Abstract:
การเคลื่อนสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยของพม่าส่งผลให้เกิดการเปิดประเทศสู่ทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้และยังทำให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญต้องให้ความสำคัญต่อความจำเป็นของการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพม่าให้ก้าวไปข้างหน้า หนึ่งในภาคส่วนที่ถูกนำมาพิจารณาคือการศึกษาในระบบหรือระบบโรงเรียนรัฐบาล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะแนวโน้มการจ้างงานบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในปัจจุบันผู้เรียนจบมหาวิทยาลัยและได้งานเพียงร้อยละ 2.7 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ ในบริบทนี้บทบาทของหลักสูตรการศึกษานอกระบบที่เน้นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติมากกว่าการศึกษาในระบบจะกลายเป็นจุดสนใจ อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยน้อยชิ้นที่ตอบโจทย์ว่า การศึกษานอกระบบสามารถเติมเต็มช่องว่างระหว่างการจ้างงานกับการศึกษาได้อย่างไร ดังนั้นการวิจัยนี้จึงสำรวจว่าโปรแกรมการศึกษานอกระบบที่ไม่ได้จัดการโดยมหาวิทยาลัยของรัฐสร้างการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษากับการจ้างงานในลักษณะที่การศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยไม่สามารถกระทำได้อย่างไร การวิจัยนี้ใช้การผสมผสานระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณโดยใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง การสำรวจ การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก เอกสาร และการวิเคราะห์เนื้อหา การวิจัยนี้ค้นพบว่าผู้จบการศึกษาโปรแกรมการศึกษานอกระบบมีความพอใจต่อการพัฒนาทุนมนุษย์และเครือข่ายข้อมูลที่โปรแกรมผลิตขึ้นมา โปรแกรมเหล่านี้จึงมีบทบาทเป็นประตูเข้าสู่การทำงานในภาคประชาสังคม การจ้างงานบัณฑิตที่จบจากโปรแกรม และบริการข้อมูลเกี่ยวกับงานทำให้โอกาสในการได้รับจ้างงานยั่งยืนมากยิ่งขึ้นไม่ว่าผู้จบโปรแกรมจะมีวุฒิปริญญาตรีอะไรมาก่อน งานวิจัยนี้ถือเป็นการศึกษาขั้นต้นที่อาจใช้ประโยชน์ได้สำหรับโปรแกรมการศึกษาขององค์กรที่มิใช่ภาครัฐและยังใช้กับระบบการศึกษาของภาครัฐได้ด้วยเช่นกัน