Abstract:
การศึกษานี้ทำขึ้นเพื่อประเมินความต้านทานการกัดกร่อนของโลหะผสมไทเทเนียม-6 อะลูมินัม-4วานาเดียม หลังจากการแอโนไดส์ในสารละลายกรดฟอสฟอริกความเข้มข้น 0.5 โมลาร์ เป็นเวลา 30 นาที ที่ความต่างศักย์ในช่วง 100 โวลต์ 150 โวลต์ 200 โวลต์ และ 300 โวลต์ โดยศึกษาพฤติกรรมการกัดกร่อนของโลหะผสมด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี ด้วยเทคนิคโพเทนชิออไดนามิกส์ โพลาไรเซชัน ในสารละลายน้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 %โดยน้ำหนัก ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ชิ้นงานที่ผ่านการแอโนไดส์แล้วจะถูกนำมาวิเคราะห์ลักษณะสัณฐานของพื้นผิวด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด วัดความขรุขระของผิวหน้าด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบสแกนนิ่งโพรบ และวิเคราะห์โครงสร้างผลึกบนพื้นผิวชั้นออกไซด์ด้วยเครื่องเอกซเรย์ดิฟแฟรกชัน รวมถึงนำชิ้นงานมาตัดขวางเพื่อวัดความหนาของชั้นออกไซด์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด ผลการประเมินศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อนและอัตราการกัดกร่อนด้วยสถิติบราวน์ ฟอร์ไซท์ โดยเปรียบเทียบเชิงซ้อนแบบแทมเฮนที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่าโลหะผสมที่ไม่ได้รับการปรับสภาพพื้นผิวมีค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อน (Ecorr) ต่ำกว่ากลุ่มที่ผ่านการแอโนไดส์ และค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อนจะเพิ่มขึ้นเมื่อความต่างศักย์ที่ใช้ในการแอโนไดส์มีค่าสูงขึ้น ส่วนอัตราการกัดกร่อนพบว่า กลุ่มที่ใช้ความต่างศักย์ 300 โวลต์ มีค่าเฉลี่ยของอัตราการกัดกร่อนสูงที่สุด (5.77x10-4 มิลต่อปี) และมีความแตกต่างทางสถิติกับกลุ่มอื่น ๆ ตามมาด้วยกลุ่ม 200 โวลต์ (3.27x10-4 มิลต่อปี) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ปรับสภาพพื้นผิวกับกลุ่มที่ผ่านการทำแอโนไดส์เซชันที่ความต่างศักย์ 100 และ 150 โวลต์ พบว่าอัตราการกัดกร่อนไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษาครั้งนี้ สรุปได้ว่าการแอโนไดส์สามารถเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อนของโลหะผสมไทเทเนียม-6อะลูมินัม-4วานาเดียมได้ แต่การใช้ความต่างศักย์ 200 และ 300 โวลต์ ในกระบวนการนี้ทำให้พื้นผิวมีอัตราการกัดกร่อนสูง ดังนั้นการปรับค่าความต่างศักย์ที่ใช้ในการ แอโนไดส์จึงมีความสำคัญ เพื่อที่จะได้พื้นผิวที่เหมาะสมต่อการนำมาทำรากเทียม