Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ศึกษาอิทธิพลจากการสนับสนุนของผู้ปกครองด้านอาชีพ แบบสนับสนุน แบบก้าวก่าย แบบขาดการมีส่วนร่วม และการรับรู้ความสามารถของตนในการตัดสินใจเลือกอาชีพที่มีต่อความลังเลใจในการเลือกเส้นทางอาชีพของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยในครั้งนี้ คือนักเรียนระดับมัธยมปลาย ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,140 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดการสนับสนุนของผู้ปกครองด้านอาชีพ มาตรวัดความลังเลใจในการเลือกเส้นทางอาชีพ มาตรวัดการรับรู้ความสามารถของตนในการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสร้างสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL) ผลการวิจัยพบว่า โมเดลเชิงสาเหตุของความลังเลใจในการเลือกประกอบอาชีพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square=25.520, df= 22, p=.273, GFI =.996, RMSEA=.012) ทั้งนี้ตัวแปรทั้งหมดในสมการสามารถอธิบายความแปรปรวนของความลังเลใจในการเลือกประกอบอาชีพได้ร้อยละ 62.10 โดยที่การรับรู้ความสามารถของตนในการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพ มีอิทธิพลทางตรงต่อความลังเลใจในการเลือกประกอบอาชีพสูงที่สุด (β = -.90, p < .01) รองลงมาเป็นอิทธิพลรวมของของการสนับสนุนของผู้ปกครองด้านอาชีพ แบบขาดการมีส่วนร่วม (β = .45, p < .01) และ การสนับสนุนของผู้ปกครองด้านอาชีพ แบบสนับสนุน (β = .37, p < .01) ทั้งนี้การสนับสนุนของผู้ปกครองด้านอาชีพแบบก้าวก่ายมีอิทธิพลรวมต่อความลังเลใจในการเลือกประกอบอาชีพอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (β = -.09, ns) การสนับสนุนจากผู้ปกครองด้านอาชีพทั้งสามรูปแบบสามารถอธิบาpความแปรปรวนของการรับรู้ความสามารถของตนในการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพได้ร้อยละ 51.90 โดยที่การสนับสนุนของผู้ปกครองด้านอาชีพแบบสนับสนุน มีอิทธิพลสูงที่สุด (β = -.90, p < .01) รองลงมาเป็น แบบขาดการมีส่วนร่วม (β = .50, p < .01) และ แบบก้าวก่าย (β = -.24, p < .01)