Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อการกำกับอารมณ์ตนเองและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ทดสอบก่อนและหลังการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง จำนวน 48 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจำนวนเท่ากัน กลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง รวมทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ โปรแกรมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม มาตรวัดการกำกับอารมณ์ตนเอง และมาตรวัดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำกับอารมณ์ตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติความแปรปรวนพหุนาม (MANOVA) ผลการวิจัย พบว่า
1. เมื่อพิจารณาคะแนนของกลุ่มทดลอง พบว่า ภายหลังการเข้ารับการทดลอง
กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนการกำกับอารมณ์ด้านการรู้คิด คะแนนการกำกับอารมณ์ด้านพฤติกรรม และคะแนนการรับรู้ความสามารถในการกำกับอารมณ์สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่สำหรับคะแนนอารมณ์ทางบวกและคะแนนอารมณ์ทางลบ พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน
2. เมื่อพิจารณาคะแนนของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า ภายหลังเข้ารับการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนการกำกับอารมณ์ด้านการรู้คิด คะแนนการกำกับอารมณ์ด้านพฤติกรรม และคะแนนการรับรู้ความสามารถในการกำกับอารมณ์สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่สำหรับคะแนนอารมณ์ทางบวก และคะแนนอารมณ์ทางลบ พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน