Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความกระปรี้กระเปร่าในงาน (vigor) และผลการปฏิบัติงาน (job performance) และทดสอบอิทธิพลส่งผ่านของความยืดหยุ่นทางการรู้คิด (cognitive flexibility) การช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน (coworker support) ความยืนหยัดในงาน (task persistence) และการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย (difficulty of self-set goal) พนักงานชาวไทยจำนวนสามร้อยเก้าคนจากบริษัทเอกชนในเขตกรุงเทพ ฯ ตอบแบบสอบถามเพื่อรายงานความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าในงาน ความยืดหยุ่นทางการรู้คิด การสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน การกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย และผลการปฏิบัติงานตามการประเมินของตนเอง หัวหน้างานของกลุ่มตัวอย่างประเมินการยืดหยัดในงานและผลการปฏิบัติงานของกลุ่มตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่านด้วยวิธี bootstrapping พบว่า ความกระปรี้กระเปร่าในงานเป็นตัวทำนายทางบวกต่อผลการปฏิบัติงาน (B = .98, R2 = .35, F(3,305) = 53.53, p < .001) ความยืดหยุ่นทางการรู้คิด (ค่าประมาณขนาดอิทธิพลทางอ้อม = .12, BCs 95% CI [.07, .19]) ความยืนหยัดในงาน (ค่าประมาณขนาดอิทธิพลทางอ้อม = .16, BCs 95% CI [.08, .25]) และการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย (ค่าประมาณขนาดอิทธิพลทางอ้อม = .07 , BCs 95% CI [.01, .14]) เป็นตัวแปรส่งผ่านทางบวกในความสัมพันธ์ระหว่างความกระปรี้กระเปร่าในงานกับผลการปฏิบัติงาน ในขณะที่การสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานไม่เป็นตัวแปรส่งผ่าน (ค่าประมาณขนาดอิทธิพลทางอ้อม = .01, BCs 95% CI [-.06, .07])