Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคติชาติพันธุ์นิยมและความเต็มใจของพนักงานท้องถิ่นในการช่วยเอื้อต่อการปรับตัวของพนักงานต่างชาติ โดยมีการจัดประเภททางสังคมเป็นตัวแปรสื่อ และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์การเป็นตัวแปรกำกับในกลุ่มตัวอย่างพนักงานท้องถิ่นในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนามของบริษัทข้ามชาติด้านยานยนต์และเทคโนโลยีอุตสาหการจากยุโรปจำนวน 205 คน โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างตามสะดวก เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ มาตรวัดคติชาติพันธุ์นิยม มาตรวัดความเต็มใจช่วยเอื้อต่อการปรับตัวของพนักงานต่างชาติ มาตรวัดการจัดประเภททางสังคม และมาตรวัดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์การ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีบูธสแตรป ด้วยโปรแกรม PROCESS ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของโปรแกรม SPSS ผลการวิจัยพบว่า
1. คติชาติพันธุ์นิยมมีอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อการจัดประเภททางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าประมาณขนาดอิทธิพลทางตรงเท่ากับ 0.16
2. การจัดประเภททางสังคมมีอิทธิพลทางตรงทางลบต่อความเต็มใจช่วยเอื้อต่อการปรับตัวของพนักงานต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าประมาณขนาดอิทธิพลทางตรงเท่ากับ -0.19
3. การจัดประเภททางสังคมเป็นตัวแปรสื่อในความสัมพันธ์ระหว่างคติชาติพันธุ์นิยมและความเต็มใจช่วยเอื้อต่อการปรับตัวของพนักงานต่างชาติ ค่าประมาณอิทธิพลทางอ้อมเท่ากับ -0.0307 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยช่วงความเชื่อมั่นมีค่าระหว่าง -0.0904 ถึง -0.0025
4. ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์การไม่ได้เป็นตัวแปรกำกับในความสัมพันธ์ระหว่างการจัดประเภททางสังคมและความเต็มใจช่วยเอื้อต่อการปรับตัวของพนักงานต่างชาติ