Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการมองโลกในแง่ดี ความสามารถในการฟื้นคืนได้ การรับรู้การสนับสนุนจากองค์การที่มีต่อพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การโดยมีความสุขเชิงอัตวิสัยเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยในครั้งนี้คือพนักงานจำนวน 447 คน โดยเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยได้แก่ มาตรวัดการมองโลกในแง่ดี มาตรวัดความสามารถในการฟื้นคืนได้ มาตรวัดการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ มาตรวัดความสุขเชิงอัตวิสัย และ มาตรวัดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการสร้างสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL) ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
1. โมเดลเชิงสาเหตุของอิทธิพลของการมองโลกในแง่ดี ความสามารถในการฟื้นคืนได้ การรับรู้การสนับสนุนจากองค์การที่มีต่อพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การโดยมีความสุขเชิงอัตวิสัยเป็นตัวแปรส่งผ่านมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-Square = 211.10, df = 64, p < .001, RMSEA = 0.072, SRMR = 0.047, GFI = 0.94, AGFI = 0.90)
2. เมื่อพิจารณาค่าอิทธิพลของตัวแปรต้นโมเดล พบว่าความสามารถในการฟื้นคืน เป็นตัวแปรที่ทำนายพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การได้ดีที่สุด (β = .44, p < .001)
3. ความสุขเชิงอัตวิสัยเป็นตัวแปรส่งผ่านโดยสมบูรณ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ ไปยังพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ (อิทธิพลรวม β = .18, p < .001; อิทธิพลทางตรง β = .05, ns; อิทธิพลทางอ้อม β = .13, p < .001)