Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเปลี่ยนรัฐบาลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งได้ศึกษาเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในการกำหนดและการปฏิบัตินโยบายดังกล่าวภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยแนวคิดที่เป็นโครงสร้างในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยแนวคิดเรื่องบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ เรื่องยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองในการกำหนดและปฏิบัตินโยบาย และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารในนโยบายสาธารณะ ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกัน (พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย) ได้นำไปสู่การกำหนดและการปฏิบัตินโยบายปราบปรามยาเสพติดที่แตกต่างกัน เนื่องจากเงื่อนไขปัจจัยหลักที่ประกอบไปด้วยบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของสองรัฐบาลตลอดจนยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรคการเมืองในการกำหนดและการปฏิบัตินโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น พบว่า ได้เผชิญกับปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ จึงทำให้นโยบายปราบปรามยาเสพติดไม่ได้ถูกเน้นให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองบริหาร พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์จึงมุ่งเน้นไปที่นโยบายด้านอื่นๆแทน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และวางยุทธศาสตร์ในการสร้างความพึงพอใจจากประชาชนไปที่นโยบายการศึกษาและนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นในส่วนนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลอภิสิทธิ์จึงไม่ได้เข้าไปสร้างแรงกดเชิงนโยบายต่อข้าราชการมากนัก นอกจากนี้รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ส. จึงสรุปได้ว่ารูปแบบนโยบายปราบปรามยาเสพติดภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์มีลักษณะความสัมพันธ์ของการเมืองและการบริหารที่แยกออกจากกัน ในทางตรงกันข้าม ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นเห็นได้ว่าระดับของปัญหาวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจบรรเทาเบาบางลง การปราบปรามยาเสพติดจึงถูกจัดวางความสำคัญไว้เป็นนโยบายลำดับต้นในฐานะเป็นวาระแห่งชาติ จึงแสดงให้เห็นว่านโยบายนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลพร้อมกับการสร้างความพึงพอใจจากประชาชนด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงมียุทธศาสตร์ของนโยบายนี้ไปในเชิงการป้องกันควบคู่กับการปราบปราม และยังสร้างแรงกดเชิงนโยบายต่อข้าราชการเป็นอย่างมากในการปฏิบัตินโยบาย นอกจากนี้แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังเข้าไปแทรกแซงในการแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งตรงข้ามกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดังนั้นข้อค้นพบที่ได้จึงนำมาสู่การสรุปที่ว่า ลักษณะความสัมพันธ์ของการเมืองและการบริหารนั้นไม่แยกออกจากกันในนโยบายปราบปรามยาเสพติดภายใต้การนำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์