Abstract:
การปนเปื้อนสารกำจัดแมลงในแหล่งน้ำเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนและสัตว์น้ำ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของสารออร์กาโนฟอสเฟตในน้ำจากอวัยวะต่างๆของปลาโดยใช้แก๊สโครมาโทกราฟี-แทนเด็มแมสสเปกโตรเมตรี (GC-MS/MS) โดยใช้ปลาแฟนซีคาร์พ (Cyprinus carpio) จำนวน 63 ตัวแบ่งเป็น 2 การทดลอง ศึกษาการตกค้างและการสลายตัวของสารออร์กาโนฟอสเฟต โดยเลี้ยงในน้ำที่มีสารไดคลอวอสความเข้มข้น 1,000 และ 4,000 พีพีบี เป็นเวลา 72 ชั่วโมง จากนั้นเก็บตัวอย่างตามเวลาที่กำหนด การศึกษาการตกค้างพบว่าที่ความเข้มข้น 1,000 พีพีบีมีการตกค้างในวุ้นตาและเนื้อร้อยละ 2.76 และ 1.71 ตามลำดับแต่ไม่พบการตกค้างในตับและเลือด ความเข้มข้น 4,000 พีพีบีมีการตกค้างในตับ วุ้นตาและเนื้อ ร้อยละ 6.79, 5.66 และ 5.54 ตามลำดับแต่ไม่พบการตกค้างในเลือด การศึกษาการสลายตัว พบว่าวุ้นตาจากซากปลาในที่แห้งและในน้ำสามารถตรวจพบสารไดคลอวอสตกค้างได้แม้จะเก็บตัวอย่างไว้นานถึง 72 ชั่วโมง ผลทางจุลพยาธิวิทยาของตับ ไตและเหงือกมีความรุนแรงของรอยโรคเพิ่มขึ้นตามระดับความเข้มข้นของสารไดคลอวอส แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของตาและกล้ามเนื้อ จากผลการทดลองสรุปได้ว่า วุ้นตาเป็นตัวอย่างที่ใช้ตรวจการปนเปื้อนสารออร์กาโนฟอสเฟตได้ดี เพราะสามารถตรวจพบจากปลาอยู่ในน้ำที่มีความเข้มข้นของสารต่ำ อีกทั้งตรวจพบได้จากปลาที่ตายในลักษณะต่างๆ ตามธรรมชาติได้นานถึง 72 ชั่วโมง