Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของเรซินโคตทิงต่อกำลังแรงยึดดึงระหว่างเรซินซีเมนต์และเนื้อฟัน โดยใช้เรซินโคตทิง 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ไฮบริดโคต และเรซินซีเมนต์ 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ พานาเวียเอฟทูและซุปเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี การทดสอบกำลังแรงยึดดึง ฟันกรามมนุษย์จำนวน 40 ซี่ ถูกตัดด้านบดเคี้ยวในแนวระนาบเพื่อเผยให้เห็นเนื้อฟันด้วยเครื่องตัดฟันความเร็วต่ำ จากนั้นขัดผิวเนื้อฟันด้วยกระดาษซิลิกอนคาร์ไบด์ความละเอียด 600 กริท แบ่งฟันเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1) เนื้อฟันที่ไม่เคลือบด้วยเรซินโคตทิงแล้วยึดด้วยพานาเวียเอฟทู 2) เนื้อฟันที่เคลือบด้วยเรซินโคตทิงแล้วยึดด้วยพานาเวียเอฟทู 3) เนื้อฟันที่ไม่เคลือบด้วยเรซินโคตทิงแล้วยึดด้วยซุปเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี และ 4) เนื้อฟันที่เคลือบด้วยเรซินโคตทิงแล้วยึดด้วยซุปเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี เก็บชิ้นงานทั้งหมดไว้ภายใต้ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 100 ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง นำชิ้นงานมาเตรียมเป็น รูปมินิดัมเบลล์ (10 ชิ้นตัวอย่างต่อกลุ่มการทดสอบ) และทดสอบกำลังแรงยึดดึงด้วยเครื่องทดสอบแรงแบบสากล ด้วยความเร็วหัวจับ 0.5 มิลลิเมตรต่อนาที บันทึกค่ากำลังแรงยึดดึงเป็นหน่วยเมกะปาสคาลนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว นำชิ้นทดสอบที่ผ่านการทดสอบไปตรวจสอบรูปแบบความล้มเหลวด้วย กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด ผลการทดสอบ กำลังแรงยึดดึงของกลุ่มที่ 1 และ 2 มีค่าเท่ากับ 9.59 ±3.65 และ 5.54±2.07 เมกะปาสคาล ตามลำดับ ส่วนกลุ่ม 3 และ 4 มีค่าเท่ากับ 17.03±2.93 และ 8.81 ±3.85 เมกะปาสคาล ตามลำดับ วิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวพบว่ากำลังแรงยึดดึงของกลุ่มที่ 3 มีค่าสูงที่สุดและแตกต่างจากกลุ่มที่เหลืออีก 3 กลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และกำลังแรงยึดดึงของกลุ่มที่ 1 และ 2 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนกำลังแรงยึดดึงระหว่างกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มที่ 4 และกำลังแรงยึดดึงระหว่างกลุ่มที่ 2 กับกลุ่มที่ 4 แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ความล้มเหลวของชิ้นทดสอบ พบว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 เกิดระหว่างชั้นยึดโดยมีเรซินซีเมนต์หลงเหลือบนเนื้อฟันขณะที่ร้อยละ 60 ของกลุ่มที่ 2 และร้อยละ 70 ของกลุ่มที่ 4 เกิดระหว่างชั้นเรซินโคตทิงกับเรซินซีเมนต์โดยมีเรซินซีเมนต์เหลือบนชั้นเรซินโคตทิง สรุปได้ว่ากำลังแรงยึดดึงของเนื้อฟันกับเรซินซีเมนต์ซุปเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี และพานาเวียเอฟทูมีค่าสูงกว่ากลุ่มเนื้อฟันที่ผ่านการเคลือบด้วย เรซินโคตทิงแล้วยึดด้วยเรซินซีเมนต์ทั้งสองชนิด