Abstract:
การศึกษานี้ มีจุดประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเปรียบเทียบแรงจากการถ่วงน้ำหนักระหว่างการมัดลวดเพียงอย่างเดียวกับการมัดลวดร่วมกับการใส่อะคริลิกทันตกรรม 2) เพื่อทดสอบการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปาก 3) เพื่อติดตามผลการรักษาในสัตว์ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการดามเฝือกภายในช่องปากด้วยการมัดลวดร่วมกับอะคริลิก การศึกษาได้แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ทำการศึกษาในซากส่วนหัวของสุนัข 7 ตัว เพื่อเปรียบเทียบแรงจากการถ่วงน้ำหนักระหว่าง 2 วิธี ได้แก่ การมัดลวดเพียงอย่างเดียว และการมัดลวดร่วมกับการใส่อะคริลิก โดยถ่วงน้ำหนัก 1, 2 และ 3 กิโลกรัม เป็นเวลา 10 นาที หลังจากนั้น ถ่ายภาพทางรังสีวิทยาด้านข้างเพื่อนำช่องระหว่างรอยหักไปวัด และนำไปคำนวณแรงด้วยกฎของโมเมนตัมและสมดุลแรง แรง S1 คือ แรงที่ได้จากการมัดลวดเพียงอย่างเดียว และแรง S2 คือ แรงที่ได้จากการมัดลวดร่วมกับการใส่อะคริลิก โดยใช้ paired t-test ในการทดสอบ ผลจากการศึกษานี้นั้น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) (-22.76 และ -3.58) ระยะที่ 2 ทำการศึกษาในสุนัขทดลอง 3 ตัว โดยการใส่อะคริลิกทันตกรรมที่บริเวณฟันเขี้ยวด้านบน และทำการตรวจการอักเสบของเหงือกในวันที่ 1, 2, 3, 7 และ 14 หลังการใส่ ผลการทดสอบพบว่า ไม่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อหรือมีการอักเสบของเนื้อเยื่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ระยะที่ 3 ศึกษาในสุนัขป่วย 2 ตัว ที่มีการหักของขากรรไกรล่างส่วน body สุนัขได้รับการดามกระดูกด้วยการมัดลวดร่วมกับการใส่อะคริลิกทันตกรรม หลังจากการใส่ 2 เดือน พบว่ามีการพอกของกระดูก และหลังการใส่ 4 เดือน พบว่า กระดูกมีการเชื่อมกัน จากการศึกษานี้ สรุปได้ว่า การดามกระดูกด้วยการมัดลวดร่วมกับการใส่อะคริลิกทันตกรรมสามารถรับแรงได้มากกว่าการมัดลวดเพียงอย่างเดียวและอะคริลิกทันตกรรมไม่เหนี่ยวนำให้เนื้อเยื่อในบริเวณที่ใส่เกิดการอักเสบภายใน 14 วัน และการดามกระดูกด้วยวิธีนี้ ช่วยจัดการปัญหาการหักของขากรรไกรล่างส่วน body ได้ดี