Abstract:
ปัจจุบันมีการใช้เรซินซีเมนต์ในการยึดชิ้นงานบูรณะชนิดติดแน่นเพิ่มมากขึ้น และมีการแนะนำเรซินซีเมนต์ชนิดใหม่เข้ามาใช้ในทางคลีนิคหลายชนิด การศึกษานี้เปรียบเทียบแรงยึดเฉือนระหว่างเรซินซีเมนต์ 5 ชนิด ได้แก่ เอบีซี คาลิบรา พานาเวียเอฟ รีไลเอ็กซ์อาร์ค และ ซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี กับโลหะผสมนิเกิล โครเมียม โมลิบดีนัม เบอริลเลียม และเพื่อศึกษาผลกระทบของการใช้ไพรเมอร์ 2 ชนิด ได้แก่ เมตาฟาสต์ และอัลลอยไพรเมอร์ ต่อแรงยึดเฉือน ชิ้นโลหะผสมทรงกระบอก 2 ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 7 และ 9 มิลลิเมตร หนา 2 มิลลิเมตร 225 คู่ ทำการเป่าทรายด้วยอลูมินัมออกไซด์ 50 ไมครอน ทำความสะอาดด้วยเครื่องอุลตราโซนิคทำการปรับสภาพด้วยไพรเมอร์ชนิดต่างๆ 2 ชนิด แล้วนำมายึดติดกันด้วยเรซินซีเมนต์ชนิดต่างๆ 5 ชนิด นำไปแช่น้ำกลั่น 24 ชั่วโมง แล้วนำมาทดสอบแรงยึดเฉือนด้วยเครื่องลอยด์อินสตรูเมนต์ บันทึกค่าแรงยึดเฉือนและลักษณะการแตกหัก จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนพบว่า ปัจจัยชนิดของเรซินซีเมนต์ และปัจจัยการใช้ไพรเมอร์มีอิทธิพลต่อแรงยึดเฉือนอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) จากการเปรียบเทียบเชิงซ้อนด้วยวิธีของ Tukey HSD พบว่าเมื่อไม่คำนึงถึงการใช้ไพรเมอร์ เรซินซีเมนต์พานาเวียเอฟ และซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บี มีแรงยึดเฉือนเฉลี่ยสูงกว่าเรซินซีเมนต์ 3 ชนิดที่เหลืออย่างมีนัยสำคัญ เรซินซีเมนต์พานาเวียเอฟมีแรงยึดเฉือนเฉลี่ยไม่แตกต่างกับซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อไม่คำนึงถึงชนิดของเรซินซีเมนต์ การใช้เรซินซีเมนต์ร่วมกับอัลลอยไพรเมอร์หรือเมตาฟาสต์ ทำให้แรงยึดเฉือนเฉลี่ยสูงกว่าไม่ใช้ไพรเมอร์อย่างมีนัยสำคัญ การใช้เรซินซีเมนต์ร่วมกับอัลลอยด์ไพรเมอร์ไม่แตกต่างกับการใช้เรซินซีเมนต์ร่วมเมตาฟาสต์อย่างมีนัยสำคัญ จากการทดสอบไคสแควร์พบว่าลักษณะการแตกหักมีความสัมพันธ์กับการใช้ไพรเมอร์อย่างมีนัยสำคัญในเรซินซีเมนต์ทุกชนิดยกเว้นคาลิบรา แรงยึดเฉือนเฉลี่ยของลักษณะการแตกหักแบบผสม สูงกว่าลักษณะการแตกหักระหว่างพื้นผิวในเรซินซีเมนต์ทุกชนิดแต่มีนัยสำคัญกับเรซินซีเมนต์รีไลเอ๊กซ์อาร์คเท่านั้น