Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลกระทบของการมีลูกต่อการทำงานในภาคเกษตรกรรมของผู้หญิงที่สมรสแล้วในชนบท โดยกำหนดให้การตัดสินใจทำงานในหรือนอกภาคเกษตรกรรมและการมีลูกถูกตัดสินใจพร้อมๆกัน และในมุมมองของผู้หญิงที่สมรสแล้วกิจกรรมทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้ ทั้งนี้ข้อมูลโครงการนางรองถูกนำมาใช้สำหรับศึกษา ซึ่งจัดเก็บและสำรวจโดย Carolina Population Center แห่ง The University of North Carolina at Chapel Hill สำรวจที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งสิ้น 3 รอบ คือ พ.ศ. 2527 2537 และ 2543 สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้หญิงที่สมรสแล้วที่มีอายุ 15-29 ปีในแต่ละรอบของการสำรวจ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,691 ตัวอย่าง และแบบจำลองทางเศรษฐมิติที่ใช้สำหรับศึกษา คือ Recursive Bivariate Probit Model โดยกำหนดให้ อายุของภรรยา ตัวแปรหุ่นแทนการมีลูกที่มีอายุ 0-2 และ 3-5 ปี และสัดส่วนของผู้สูงอายุหญิงในครัวเรือนเป็นตัวแปรเครื่องมือ (Instrument Variables) ของการมีลูก เนื่องจากตัวแปรข้างต้นมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการอธิบายการมีลูก แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการอธิบายการทำงานในภาคเกษตรกรรมของผู้หญิงที่สมรสแล้ว
นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ฉบับยังได้ทำการทดสอบความแข็งแรงของ Recursive Bivariate Probit Model ที่เลือกใช้ (Robustness Check) ด้วยการเปรียบเทียบผลการศึกษาที่ได้กับแบบจำลองทางเศรษฐมิติอื่นๆ โดยมีหลักการเปรียบเทียบดังนี้ กรณีที่หนึ่ง ใช้กลุ่มตัวอย่างเดิมแต่เปลี่ยนแบบจำลองเป็น Switching Probit Model พบว่า Recursive Bivariate Probit Model ให้ผลการศึกษาที่เสถียรกว่า กรณีที่สอง คือ ใช้แบบจำลองเดิมแต่เปลี่ยนกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงที่สมรสแล้วที่มีอายุ 15-45 ปีในแต่ละรอบของการสำรวจ พบว่าผลการศึกษาที่ได้ระหว่างสองกลุ่มตัวอย่างไม่แตกต่างกัน และกรณีสุดท้าย คือ ใช้กลุ่มตัวอย่างแบบ Panel ด้วย Bivariate Random Effects Probit Model ปรากฏว่าผลการศึกษาแบบ Panel ไม่มีความคงเส้นคงวา เพราะจำนวนรอบของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้สั้นเกินไป เป็นต้น
ผลการศึกษาของ Recursive Bivariate Probit Model พบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรมีลูกและการทำงานในภาคเกษตรกรรมของกลุ่มตัวอย่าง ในเชิงผกผัน กล่าวคือ หากตัวอย่างตัดสินใจมีลูกความน่าจะเป็นในการตัดสินใจทำงานในภาคเกษตรกรรมจะลดลง ประมาณ 0.2567 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดสรรปัจจัยเวลาและแรงงานของผู้หญิงที่สมรสแล้วในการทำกิจกรรมทั้งสอง กล่าวคือการเลี้ยงดูลูกต้องใช้ทั้งปัจจัยเวลาและแรงงานเข้มข้น เช่นเดียวกับการทำงานในภาคเกษตรกรรม เช่น การทำนา การทำไร่มันสำปะหลัง หรือการทำไร่อ้อย ที่ต้องการทั้งเวลาและแรงงานในการทำงานเหมือนกัน ดังนั้น หากผู้หญิงที่สมรสแล้วตัดสินใจมีลูก โอกาสในการทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการนำเสนอมีสองแนวทาง กล่าวคือ หากรัฐมีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และเล็งเห็นภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญ โดยเฉพาะการใช้แรงงานผู้หญิงในภาคเกษตรกรรม รัฐควรออกนโยบายในการลดต้นทุนการมีลูก หรือ หากรัฐต้องการเพิ่มจำนวนประชากร ผ่านการออกมาตรการทางด้านแรงงาน รัฐควรส่งเสริมการทำงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่สมรสแล้ว