Abstract:
การวิจัยเรื่อง "ผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวของสตรีทำงานนอกบ้าน:ศึกษากรณีของอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวจากการทำงานนอกบ้านของอาจารย์ประจำสตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจำนวน 100 ชุดด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling และการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth Interview) จำนวน 10 คน ที่ไม่ใช่กลุ่มประชากร 100 คน ที่ตอบแบบสอบถาม เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ จากนั้นนำมาวิเคราะห์หาค่าทางสถิติ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (SPSS/PC)(statistcal package for the social science) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สถิติเชิงพรรณนา (descriptive statistics) ในการพรรณนาลักษณะข้อมูลที่รวบรวมได้จากกลุ่มประชากร เช่น ร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) กับสถิติอ้างอิง (infer statistics) ในการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ กับตัวแปรตาม โดยใช้ค่าไคสแควร์ (chi-square) และมีระดับนัยสำคัญที่ 0.05 เพื่อทดสอบสมมติฐาน 5 ข้อดังนี้ 1. อาจารย์ที่มีอายุมากจะเลี้ยงดูบุตรได้ดีกว่าอาจารย์ที่มีอายุน้อย 2. อาจารย์ที่มีการศึกษาสูงจะเลี้ยงดูบุตรได้ดีกว่าอาจารย์ที่มีการศึกษาต่ำ 3. อาจารย์ที่ไม่มีต่ำแหน่งบริหารจะเลี้ยงดูบุตรได้ดีกว่าอาจารย์ที่มีตำแหน่งบริหาร 4. อาจารย์ที่มีบุตรน้อยจะเลี้ยงดูบุตรได้ดีกว่าอาจารย์ที่มีบุตรมาก 5 อาจารย์ที่มีรายได้มากจะเลี้ยงดูบุตรได้ดีกว่าอาจารย์ที่มีรายได้น้อย ผลการวิจัยพบว่า การมีตำแหน่งบริหาร ส่งผลกระทบต่อบทบาทการเป็นมารดาจึงยอมรับสมมติฐานข้อ 3 สำหรับตัวแปร อายุ การศึกษา จำนวนบุตร และรายได้นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อบทบาทการเป็นมารดา จึงปฏิเสธสมมติฐานข้อ 1, ข้อ 2, ข้อ 4, และข้อ 5