Abstract:
ศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพและบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้บริบทสังคมเมือง ในด้านการรับรู้มุมมองต่อตนเองจากการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ อิทธิพลจากกระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมสมัยใหม่ รวมถึงศึกษาแนวโน้มการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพในอนาคต ทั้งนี้โดยศึกษาจากการรวบรวมข้อมูลทางเอกสารของผลิตภัณฑ์ และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 24 รายที่มีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่ 41-55 ปี สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทั้งนี้ จำแนกกลุ่มตัวอย่างตามกลุ่มอาชีพแบ่งเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 8 ราย ภายในแต่ละกลุ่มย่อยจะจำแนกตามกลุ่มที่มีรายได้สูง ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป 4 ราย และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทอีก 4 ราย รวมทั้งหมดจาก 24 รายจะประกอบด้วยกลุ่มผู้มีรายได้สูง 12 รายและรายได้ต่ำกว่าอีก 12 ราย ผลการศึกษาพบว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ ในการดูแลรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีอายุที่ยืนยาว และเพื่อชดเชยความต้องการสารอาหารที่จำเป็นของร่างกายในแต่ละวัน เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมเมือง ที่ส่งผลต่อการดูแลสุขภาพของตนเอง การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพยังสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการร่างกาย ในรูปของโครงการและทุนทางร่างกายเพื่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ปัจจัยที่มีบทบาทในการบริโภคก็คือ อิทธิพลจากบุคคลแวดล้อมรอบข้างและการสร้างภาพ ให้เกิดความคล้อยตามจากสื่อหรือการโฆษณา ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็พยายามแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพร่างกายควบคู่ไปด้วย