Abstract:
อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระดับสูง อีกทั้งอาศัยปัจจัยการผลิตจากภายในประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน การค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมอาหารพบว่ามีการขยายตัวอย่างรวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารไทยยังกลุ่มประเทศอาเซียนสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมภาคอื่นๆ ของโลก ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารจากประเทศไทยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ลักษณะการค้าของอุตสาหกรรมดังกล่าวปรากฏทั้งการส่งออกและการนำเข้า อันเป็นลักษณะของการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (IIT) ผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการศึกษาถึงลักษณะและปัจจัยกำหนดการทำการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันของอุตสาหกรรมอาหารระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน
ผู้วิจัยศึกษาสินค้าในกลุ่มอาหารของกลุ่มประเทศอาเซียน 5 แบ่งกลุ่มสินค้าตามพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ในระดับ 2 ถึง 4 หลัก ครอบคลุมช่วงปี พ.ศ. 2545 – 2555 ศึกษาทั้งกลุ่มปัจจัยเฉพาะของประเทศและปัจจัยเฉพาะของอุตสาหกรรม วัดระดับการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วยดัชนี Grubel-Lloyd (GL) และดัชนี Aquino (AQ) รวมทั้งแบ่งรูปแบบเป็นการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันในแนวตั้ง (VIIT) และแนวนอน (HIIT) ประมาณการแบบจำลองด้วยวิธี Fixed-Effects Panel Data
ผลการศึกษาพบว่า ระดับการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันของอุตสาหกรรมอาหารระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงปีที่ทำการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกเว้นกรณีการค้ากับสิงคโปร์ ในขณะที่ระดับการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันระหว่างไทยกับมาเลเซียมีค่าสูงที่สุด โดยดัชนี GL สามารถสะท้อนมูลค่าการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ดีกว่าดัชนี AQ ในขณะที่การแบ่งรูปแบบการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันพบว่าโดยส่วนใหญ่กลุ่มสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารมีลักษณะ VIIT แบบคุณภาพต่ำ และกลุ่มสินค้าที่มีลักษณะ VIIT โดยส่วนใหญ่คือกลุ่มสินค้าแปรรูป ส่วนกลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขึ้นกลางส่วนใหญ่เป็น HIIT ผลการศึกษาปัจจัยกำหนดฯ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอธิบายกับตัวแปรตามอันได้แก่ ดัชนี GL, AQ และสัดส่วน HIIT มีทิศทางคล้ายคลึงกัน และตรงกันข้ามกับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอธิบายกับสัดส่วน VIIT ตัวแปรอธิบายสำคัญที่มีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ ความแตกต่างการบริโภคไฟฟ้าต่อหัว ดัชนีมูลค่าการผลิตโดยเฉลี่ย และสัดส่วนรายการสินค้าอ่อนไหว