Abstract:
การศึกษาผลของการใส่เฝือกสบฟันชนิดเสถียรต่อระยะเวลาสบแยกในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและการเปลี่ยนแปลงระดับความปวดสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสบแยก กลุ่มตัวอย่างจำนวน 16 คนที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยวได้รับการสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลอง (n=8) และกลุ่มควบคุม (n=8) กลุ่มทดลองได้รับการรักษาด้วยเฝือกสบฟันชนิดเสถียรร่วมกับรับคำแนะนำในการดูแลตนเองและกลุ่มควบคุมได้รับเฉพาะคำแนะนำในการดูแลตนเองเพียงอย่างเดียว เก็บข้อมูลผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มก่อนและหลังการรักษาด้วย 2 วิธี คือ 1)แบบสอบถามรายงานอาการปวดด้วยตนเอง และ 2) การวิเคราะห์ระยะเวลาสบแยกด้วยเครื่องทีสแกนสาม (T-Scan® III) ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีระดับความปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) หลังจากได้รับการรักษาไปแล้ว 6 สัปดาห์ แต่ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาสบแยกทั้งด้านซ้ายและขวาของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p>0.05) จากก่อนการรักษา ดังนั้นการใส่เฝือกสบฟันจึงไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสบแยก และการลดลงของอาการปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยวหลังการรักษาไม่สัมพันธ์กับระยะเวลาสบแยก (Fisher exact test, p>0.05)