Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดขันติธรรมและเสรีภาพทางศาสนาของ จอห์น ล็อก แล้วนำมาเป็นกรอบการศึกษารัฐไทยภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๔๗๕-๒๕๔๐ ผลการศึกษาสามารถสร้างกรอบแนวคิดและวิเคราะห์ขันติธรรมและเสรีภาพทางศาสนาของรัฐไทยได้ ใน ๒ ด้าน คือ ด้านที่หนึ่ง สิ่งที่ต้องมีขันติธรรม คือ ศาสนา ตามแนวคิดของ ล็อก สังคมการเมืองและศาสนจักรมีเป้าหมายและวิธีการที่แตกต่างกัน เหตุทางญาณวิทยาและเทววิทยา ทำให้รัฐไม่อาจใช้วิธีการของตน คือ การใช้กำลังไปบังคับเรื่องราวทางจิตวิญญาณได้ สำหรับสังคมการเมืองไทย ศาสนาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางจิตวิญญาณ แต่ถือเป็นรากฐานทางศีลธรรมที่รัฐต้องปกป้อง ศาสนาที่รัฐจะมีขันติธรรมได้ ต้องมีความเชื่อและพิธีกรรมที่ไม่ขัดกับศาสนาของรัฐ ด้านที่สอง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับขันติธรรม เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีขันติธรรม กับ ผู้ได้รับขันติธรรม คือ ๑) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนจักร รัฐไทยมีอำนาจเข้าไปจัดรูปแบบและโครงสร้างของศาสนจักรและสามารถใช้อำนาจบังคับในพื้นที่ของศาสนจักรได้ ๒) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนจักรประจำชาติ กับคนต่างศาสนา รัฐเคยไม่มีขันติธรรมต่อชาวคริสต์และมุสลิม ภายใต้ลัทธิชาตินิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้เหตุการณ์คลี่คลายลง แต่ก็ยังมีทัศนะในทางลบต่อคนต่างศาสนาอยู่บ้าง ๓) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนจักรจารีตกับกลุ่มชาวพุทธด้วยกัน เหตุทางเทววิทยาของ ล็อก คือ ความรอดเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล รัฐจึงไม่สามารถใช้อำนาจบังคับได้ สำหรับรัฐไทยจากการที่เห็นว่าศาสนาเป็นรากฐานทางศีลธรรมที่รัฐต้องปกป้อง รัฐจึงมีกฎหมายที่ทำให้รัฐและศาสนจักรจารีตสามารถบังคับต่อผู้ที่ไม่เห็นพ้องด้วย ได้ ๔) ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองด้วยกัน ระหว่างชาวพุทธด้วยกันจะมีขันติธรรมต่อกันได้มากกว่าขันติธรรมที่รัฐจะให้แก่พลเมืองบางกลุ่ม จากการศึกษามีข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนจักร การปรับปรุงกฎหมายเพื่อการมีขันติธรรมและเสรีภาพทางศาสนา และการให้ความสำคัญกับศาสนาที่เป็นวิถีทางไปสู่ประโยชน์สูงสุดของชาติ ไม่ใช่ศาสนาที่เป็นเป้าหมายในตัวเอง