Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเผชิญปัญหากับสุขภาวะเชิงอัตวิสัยในบุคคลวัยเกษียณ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ คือ บุคคลในวัยทำงานที่อยู่ในช่วงก่อนและหลังการเกษียณไม่เกิน 2 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 75 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดกลยุทธ์การเผชิญปัญหา และมาตรวัดสุขภาวะ ผลการวิจัยพบว่า 1. บุคคลในวัยเกษียณที่มีรูปแบบการเผชิญปัญหาแตกต่างกันมีระดับสุขภาวะเชิงอัตวิสัยไม่แตกต่างกัน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม 2. รูปแบบการเผชิญปัญหา แบบหลีกหนีปัญหาและแบบจมดิ่งกับอารมณ์ มีความสัมพันธ์ในทางลบกับระดับสุขภาวะเชิงอัตวิสัย (r = -.269, p < .05), (r = -.361, p < .01) ตามลำดับ 3. รูปแบบการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา แบบแสวงหาการสนับสนุนช่วยเหลือ และแบบตั้งสติจัดการกับปัญหา มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับระดับสุขภาวะเชิงอัตวิสัย (r = .374, p < .01), (r = .219, p > .05), (r = .306, p < .01) ตามลำดับ 4. ในรูปแบบการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา กลุ่มที่ได้คะแนนสูงและกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำ มีสุขภาวะเชิงอัตวิสัยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -3.484, p < .01) 5. ในรูปแบบการเผชิญปัญหาแบบจมดิ่งกับอารมณ์ กลุ่มที่ได้คะแนนสูงและกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำ มีสุขภาวะเชิงอัตวิสัยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 2.912, p < .01) 6. ในรูปแบบการเผชิญปัญหาแบบตั้งสติจัดการกับปัญหา กลุ่มที่ได้คะแนนสูงและกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำ มีสุขภาวะเชิงอัตวิสัยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -3.450, p < .01)
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2556
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2013