Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการยับยั้งเชื้อสเตร็ปโตคอกคัสมิวแทนส์ คุณสมบัติความทนแรงอัด ความหนาของแผ่นฟิล์ม การปลดปล่อยฟลูออไรด์ การดูดซึมน้ำ และสภาพการละลายของซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ที่ผสมเจลพอลิแซ็กคาไรด์จากเปลือกทุเรียน (พีจี) ในห้องปฏิบัติการ วัสดุและวิธีการ เตรียมสารกลุ่มทดลองโดยผสมพีจีกับส่วนผงของซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ ในอัตราส่วนร้อยละ 4.76 7.50 9.09 และ 12.50 โดยน้ำหนักตามลำดับ กลุ่มควบคุมลบ คือ กลุ่มที่ไม่ผสมพีจี และกลุ่มควบคุมบวก คือ กลุ่มที่ผสมผงแอมพิซิลลินในอัตราส่วนร้อยละ 4.76 โดยน้ำหนัก จากนั้นผสมส่วนผงที่เตรียมไว้กับส่วนเหลวตามอัตราส่วนและวิธีการที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด ใส่ในแม่แบบรูปทรงกระบอกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง (มิลลิเมตร) x สูง (มิลลิเมตร) ดังนี้ 3 x 2 เพื่อศึกษาผลการยับยั้งเชื้อ 4 x 6 เพื่อศึกษาการทนแรงอัด และ 9 x 1.5 เพื่อทดสอบสภาพการละลาย การดูดซึมน้ำ และการปลดปล่อยฟลูออไรด์ จำนวน 6 ชิ้นต่อกลุ่ม ทดสอบผลการยับยั้งด้วยเทคนิคบรอทไดลูชันเป็นเวลา 4 8 และ 24 ชั่วโมง ทดสอบความทนแรงอัดและความหนาของแผ่นฟิล์มตามมาตรฐานไอโซปี 2546 ทดสอบการละลายและการดูดซึมน้ำโดยคำนวนจากน้ำหนัก ทดสอบการปลดปล่อยฟลูออไรด์ด้วยการนำชิ้นงานแช่ในน้ำปราศจากอิออน วัดค่าการปลดปล่อยฟลูออไรด์ด้วยฟลูออไรด์อิเล็กโตรดที่ระยะเวลา 1 2 4 6 8 15 และ 22 วัน
ผลการศึกษาและสรุป ที่ระยะเวลา 8 ชั่วโมง ซีเมนต์ที่ผสมพีจีในอัตราส่วนร้อยละ 7.50 9.09 และ 12.50 มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อสเตร็ปโตคอกคัสมิวแทนส์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติประมาณร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมลบ (P<0.05) โดยที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง พบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อประมาณร้อยละ 5 ซึ่งไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบกับกลุ่มควบคุมลบ ในขณะที่กลุ่มควบคุมลบและกลุ่มที่ผสมพีจีอัตราส่วนร้อยละ 4.76 ไม่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ กลุ่มที่ผสมพีจีอัตราส่วน 4.76 มีค่าความทนแรงอัด 60.37 เมกะปาสคาล ซึ่งมีค่ามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานไอโซ ในขณะที่เมื่อผสมพีจีอัตราส่วนร้อยละ 7.50 9.09 และ 12.50 มีแนวโน้มค่าความทนแรงอัดน้อยลงตามลำดับ และไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานไอโซ กลุ่มที่ผสมพีจีอัตราส่วนร้อยละ 4.76 มีค่าเฉลี่ยความหนาของแผ่นฟิล์มเท่ากับ 15.8 + 9 ไมโครเมตร ซึ่งไม่มีความแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานไอโซ กลุ่มที่ผสมเจลอัตราส่วนร้อยละ 4.76 มีค่าการละลายเท่ากับ 10.47 x 10-3 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มควบคุมลบ กลุ่มที่ผสมเจลอัตราส่วนร้อยละ 4.76 มีค่าการดูดซึมน้ำเท่ากับ 0.143 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มควบคุม ขณะที่กลุ่มที่ผสมเจลอัตราส่วนร้อยละ 7.50 9.09 และ 12.50 มีสภาพการละลายสูงมากจนไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ กลุ่มควบคุมลบ และกลุ่มที่ผสมพีจีอัตราส่วนต่าง ๆ มีแนวโน้มการปลดปล่อยฟลูออไรด์คล้ายกัน คือ ในช่วงแรกมีการปลดปล่อยอย่างรวดเร็ว และในช่วงหลังมีการปลดปล่อยช้าลง