Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการศึกษาเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง ณ จุดเวลาหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย พ.ศ. 2543 ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ และหาจุดอ่อน จุดแข็งของการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ เก็บข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ถึง มกราคม พ.ศ. 2544 โดยวิธีการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ไปยังหัวหน้าห้องปฏิบัติการที่ทราบว่าหรือคาดว่าตรวจวิเคราะห์ด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย จำนวน 415 แห่ง อัตราการตอบกลับร้อยละ 54.5 และสัมภาษณ์เจาะลึกแบบกึ่งมีโครงสร้างกับหัวหน้าห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองคุณภาพ จำนวน 6 แห่ง สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi-square test และ Wilcoxon Rank Sum test ผลการศึกษา พบว่า แบบสอบถามที่ส่งกลับมานั้นเป็นห้องปฏิบัติการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมร้อยละ 42.9 โดยเป็นห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ร้อยละ 45.1 รองลงมาคือ ห้องปฏิบัติการด้านอาชีวอนามัย ร้อยละ 19.9 และห้องปฏิบัติการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 13.7 เป็นหน่วยงานเอกชน ร้อยละ 53.4 และส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ร้อยละ 71.9 มีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 42.7 วุฒิการศึกษาของบุคลากรส่วนใหญ่คือ ปริญญาตรี กรณีห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม จำนวน 102 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานเอกชน และไม่ได้ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ผ่านการรับรองคุณภาพ 12 แห่ง (ร้อยละ 11.9) และใช้ระบบประกันคุณภาพ ISO 9002 ห้องปฏิบัติการด้านอาชีวอนามัย จำนวน 45 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการรับรองคุณภาพ 12 แห่ง (ร้อยละ 26.7) ใช้ระบบประกันคุณภาพ ISO 9002 ห้องปฏิบัติการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จำนวน 31 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ผ่านการรับรอง 8 แห่ง ร้อยละ 25.8 ใช้ระบบประกันคุณภาพ ISO/IEC Guide 25/17025 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการรับรองคุณภาพ ได้แก่ จำนวนบุคลากรทั้งหมด จำนวนบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี และจำนวนบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี (p<0.001) ผลการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ห้องปฏิบัติการนั้นผ่านการ รับรองคุณภาพ คือ บุคลากรตระหนักถึงความสำคัญ และให้ความร่วมมือ ผู้บริหารให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และงบประมาณเพียงพอ การศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นปัจจัยนำเข้า เพื่อเป็นแนวทาง ให้การสนับสนุนแก่ห้องปฏิบัติการในการรับรองคุณภาพมาตรฐานต่อไปได้