Abstract:
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสัดส่วนผู้สูงอายุและการที่ประเทศไทยมีระยะเวลาน้อยในการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย เป็นเหตุให้การเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในการวางแผนงานด้านผู้สูงอายุของไทย การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองในด้านสุขภาพกาย ด้านสุขภาพจิต ด้านการเงิน ด้านที่อยู่อาศัย และด้านผู้ดูแล ของประชากรไทยผู้มีอายุระหว่าง 50-59 ปี และทำการสร้างและศึกษาดัชนีทุนมนุษย์และดัชนีการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเอง รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านทุนมนุษย์กับการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเอง งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณที่ใช้ข้อมูลจากโครงการการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2554 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และได้กำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี จำนวน 17,651 ราย สำหรับการศึกษาลักษณะการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองจำแนกตามตัวแปรปัจจัยด้านทุนมนุษย์จะทำการจำแนกประเภทไขว้ และการวิเคราะห์ปัจจัยกำหนดการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ถดถอยโพรบิท (probit regression) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีดัชนีทุนมนุษย์อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งดัชนีทุนมนุษย์ของการศึกษาครั้งนี้ได้พัฒนามาจากดัชนีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ ดัชนีความรู้ ดัชนีทักษะและความสามารถในการทำงาน และดัชนีภาวะสุขภาพ ผลการศึกษายังพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองในทุกๆด้านอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผู้ดูแล และจากการสร้างดัชนีการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองจากการเตรียมความพร้อมทั้ง 5 ด้าน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีดัชนีการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองอยู่ในระดับต่ำ และจากการศึกษาการจำแนกประเภทไขว้พบว่าบุคคลที่มีระดับทุนมนุษย์สูงกว่าจะมีสัดส่วนของการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองมากกว่าผู้ที่มีระดับทุนมนุษย์ต่ำกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านทุนมนุษย์กับการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเอง ที่พบว่าเมื่อควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอิสระในปัจจัยด้านประชากร ด้านเขตที่อยู่อาศัย ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเกื้อหนุนระหว่างรุ่นในครอบครัว และด้านนโยบายสาธารณะแล้ว ผู้ที่มีระดับทุนมนุษย์สูงกว่าจะมีโอกาสในการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองมากกว่าผู้ที่มีระดับทุนมนุษย์ต่ำกว่า และดัชนีความรู้จะมีขนาดของอิทธิพลที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีทักษะและความสามารถในการทำงาน และดัชนีภาวะสุขภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมสูงวัยที่ภาครัฐควรจะส่งเสริมให้ประชากรมีทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะการที่บุคคลมีทุนมนุษย์สูงขึ้น จะทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น