Abstract:
ิวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเรื่องเหตุเพิกถอน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่บกพร่อง ทั้งหลักเกณฑ์ทั่วไปและวิธีการเพิกถอนคำชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อให้คู่พิพาทฝ่ายที่เสียหายมีโอกาสยื่นคำร้องคัดค้าน ไม่ให้ตนต้องถูกบังคับตามผลแห่งคำชี้ขาดนั้นและให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สิ้นผลบังคับไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับโดยอนุญาโตตุลาการ ได้ตามกฎหมาย (Arbitrability) ตามมาตรา 40(2)(ก) และคำชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40(2)(ข) ซึ่งเป็นเหตุเพิกถอนที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ศาลสามารถตีความปรับใช้บทกฎหมายดังกล่าวได้เอง สำหรับเหตุเพิกถอนคำชี้ขาดเกี่ยวกับ Arbitrability ตามมาตรา 40(2)(ก) นี้เป็นหลักการที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงสรุปได้ว่าบทบัญญัติตามมาตรา 40(2)(ก) เป็นหลักการเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 40(2)(ข) นั่นเอง แต่เหตุเพิกถอนตามมาตรา 40(2)(ข) มีลักษณะเป็นนามธรรม ทำให้มีปัญหาในการปรับใช้ว่าพฤติการณ์ใดบ้างที่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 40(2)(ข) อันถือว่าขัดต่อหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จากการศึกษาพบว่า พฤติการณ์ที่มีผลทำให้คำชี้ขาดมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบและศีลธรรมอันดีของประชาชน น่าจะรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ (1) กรณีมีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า อนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอคติ (bias) มีความลำเอียงและขาดความเป็นกลาง (partial) ในการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความไม่สุจริต (dishonest) (2) ข้อกำหนดในสัญญาเกี่ยวกับการตั้งอนุญาโตตุลาการกระทำขึ้นโดยขาดอิสรภาพ ในการเจรจาตกลงกันของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่งผลต่อกระบวนพิจารณาที่อนุญาโตตุลาการ ได้กระทำต่อมาจนมีคำชี้ขาดที่บกพร่องไม่สมควรให้มีผลบังคับ (3) คำชี้ขาดอันเกิดจากการหลอกลวงพูดเท็จต่ออนุญาโตตุลาการ (4) คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกำหนดให้คู่พิพาทฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายของศาลต่างประเทศ (5) กรณีมีพฤติการณ์หรือการปฏิบัติอย่างใดๆ เพื่อให้อนุญาโตตุลาการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต (6) กรณีที่อนุญาโตตุลาการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจงใจละเลยไม่หยิบยกพยานหลักฐานสำคัญแห่งคดีขึ้นวินิจฉัย การนำแนวการตีความดังกล่าวมาใช้จะช่วยส่งเสริมการปรับใช้หลักความสงบเรียบร้อยของแต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทยให้มีความสอดคล้องและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น