Abstract:
ข้อจำกัดด้านงบประมาณเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการทางทหารทั้งในยามปกติและสภาวการณ์ที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางทหาร ย่อมจะทำให้การใช้กำลังทางทหารในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีความคุ้มค่าต่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด งานวิจัยนี้ได้เสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการจัดกำลังและการใช้กำลังทางเรือของกองทัพเรือเป็นหมู่เรือปฏิบัติภารกิจเพื่อคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทั้งในยามปกติและสภาวการณ์ที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น ผู้วิจัยได้ใช้การศึกษาวิจัยจากเอกสาร (documentary research) จากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ ได้แก่ ตำราเอกสารทางราชการ ระบบสารสนเทศและคู่มือต่างๆ นำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงเส้น (Linear Programming) และใช้วิธีการซิมเพล็กซ์ (Simplex Method) ในการคำนวณวิเคราะห์เปรียบเทียบ พบว่าในยามปกติการจัดกำลังทางเรือเป็นหมู่เรือจำนวน 2 ลำที่ประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ปืน (Patrol Craft Gun) และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (Coastal Patrol Craft) ให้ระยะทางในการลาดตระเวนรวมเพื่อคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลรวมสูงสุด ขณะที่มีการเพิ่มเติมงบประมาณมากขึ้นจากเดิม 1 เท่า เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่มากขึ้น การจัดกำลังทางเรือเป็นหมู่เรือจำนวน 3 ลำ ที่ประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Offshore Patrol) เรือตรวจการณ์ปืน (Patrol Craft Gun) และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (Coastal Patrol Craft) กลับให้ระยะทางในการลาดตระเวนรวมสูงสุด ซึ่งสะท้อนการมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ค่า Dual Price ของหมู่เรือที่คำนวณได้ 550.231 ยังทำให้ทราบว่า หมู่เรือจำนวน 3 ลำ ดังกล่าว สามารถลาดตระเวนเพิ่มขึ้นได้ 550.231 ไมล์ทะเลต่องบประมาณที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาท สำหรับค่า Reduced Cost ของเรือฟริเกต (Frigate) และเรือคอร์เวต (Corvette) ซึ่งมีค่า 3,907.9 และ 72.595 ยังบ่งชี้ถึงค่าเสียโอกาสหรือแสดงจำนวนระยะทางการลาดตระเวนรวมของหมู่เรือที่ต้องลดลง เมื่อต้องการเพิ่มเติมกำลังทางเรือโดยการใช้เรือประเภทนั้นๆ ทำการลาดตระเวนเพิ่มขึ้น 1 เที่ยว เนื่องจากเป็นการเพิ่มเรือเข้าไปใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งได้มีการจัดสรรไว้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยทั้งค่า Dual Price และ Reduced Cost จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ผู้วางแผนทางทหารทราบถึงผลกระทบต่อการเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางทหาร โดยหากผู้วางแผนต้องการใช้กำลังทางเรือในแต่ละประเภททำการลาดตระเวนเพิ่มขึ้นเรือที่มีค่า Reduced Cost ต่ำจะให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติการสูงกว่าเรือที่มีค่า Reduced Cost สูง เนื่องจากค่า Reduced Cost บ่งชี้ถึงค่าเสียโอกาสหรือจำนวนระยะทางการลาดตระเวนรวมที่ต้องลดลง เมื่อมีการใช้เรือประเภทนั้น ๆ ทำการลาดตระเวนเพิ่มขึ้น ขณะที่หมู่เรือที่มีค่า Dual Price สูงจะให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติการที่มากกว่าหมู่เรือที่มีค่า Dual Price ต่ำ เนื่องจากค่า Dual Price แสดงจำนวนระยะทางในการลาดตระเวนที่เพิ่มขึ้นต่องบประมาณที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้วางแผนสามารถจัดเตรียมกำลังทางเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาวการณ์และงบประมาณที่จำกัดอีกด้วย