Abstract:
กลูโคซามีนและคอนดรอยตินซัลเฟต เป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างนอกเซลล์ของกระดูกอ่อนข้อต่อดังนั้นจึงได้รับความสนใจในการรักษาภาวะข้อเสื่อม โดยพบว่าสารทั้ง 2 ชนิดมีความสามารถในการรักษาสมดุลการสร้างและสลายกระดูกอ่อนข้อต่อ จึงคาดว่าน่าจะให้ผลดีในการนำมารักษาภาวะข้อเสื่อมที่เกิดขึ้น รวมถึงมีการนำมาใช้ในการรักษาภาวะข้อเสื่อมในทางการแพทย์และสัตวแพทย์อย่างแพร่หลาย แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อโต้เถียงถึงผลการรักษาภาวะข้อเสื่อมด้วยสารดังกล่าวทางคลินิก ดังนั้นการศึกษานี้จึงเน้นถึงผลการเปลี่ยนแปลงของอาการทางคลินิก คะแนนความเจ็บขาขณะเดิน คะแนนการเกิดภาวะข้อเสื่อมทางรังสีวิทยา การเปลี่ยนแปลงของระดับ Hyaluronic acid (HA) และ WF6-chondroitin epitope ในกระแสเลือดโดยใช้สุนัขที่เข้ารับการผ่าตัดแก้ไขภาวะเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด (n=12) เป็นตัวอย่างในการศึกษาภาวะข้อเสื่อม หลังจากนั้นทำการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับ glucosamine ร่วมกับ chondroitin sulfate (GsCn) (n=6) และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Plab) (n=6) เป็นเวลา 16 สัปดาห์ พบว่าภายหลังการได้รับ glucosamine ร่วมกับ chondroitin sulfate ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อทำการประเมินด้วยคะแนนการลงน้ำหนักขา คะแนนความเจ็บปวดขณะเดิน การเปลี่ยนแปลงของระดับ HA และ WF6 ในกระแสเลือด แต่อย่างไรก็ตามพบว่าในกลุ่ม GsCn มีการลดลงของระดับ WF6 ในกระแสเลือดร่วมกับพบการสูงขึ้นของระดับ HA ในกระแสเลือดช้ากว่ากลุ่ม Plab ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า glucosamine และ chondroitin sulfate อาจมีผลในการชะลอการทำลายกระดูกอ่อนข้อต่อและการเกิดภาวะข้อต่ออักเสบได้เล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภายในเวลา 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด นอกจากนั้นยังไม่พบอาการข้างเคียงและการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยาภายในระยะเวลา 16 สัปดาห์ของการศึกษา