Abstract:
มหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มภาคกลางของไทยในปีพ.ศ. 2554 สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแม้มีน้ำหลากเป็นประจำก็มีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการจัดการที่อยู่อาศัยในภาวะอุทกภัยของชุมชนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย 2 ชุมชนคือโครงการเคหะชุมชนอยุธยาของการเคหะแห่งชาติและโครงการหมู่บ้านจัดสรรหันตราวิลล่าที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนโดยวิธีการสังเกต สัมภาษณ์อย่างมีโครงสร้าง สัมภาษณ์และประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลจากการศึกษาพบว่า ทั้งสองชุมชนตั้งในตำบลเดียวกัน แต่เคหะชุมชนฯตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน ส่วนชุมชนหันตราฯตั้งห่างจากแหล่งชุมชน โดยที่อยู่อาศัยในทั้ง 2 ชุมชน ร้อยละ 40 เป็นเรือนแถวชั้นเดียว ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ครัวเรือน 5,000-15,000 บาทต่อเดือน ผู้อยู่อาศัยในเคหะชุมชนฯส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78) มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ส่วนผู้อยู่อาศัยในชุมชนหันตราฯส่วนใหญ่ (ร้อยละ80) มีภูมิลำเนาอยู่ในอยุธยา ในช่วงก่อนเกิดอุทกภัยเมื่อได้ทราบข่าว
ทั้งสองชุมชนมีการเตรียมการโดยขนย้ายทรัพย์สินไว้ที่ปลอดภัยและได้รับความช่วยเหลือจากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และองค์การบริหารส่วนตำบลหันตราช่วยเหลือที่พักชั่วคราวรวมทั้งอาหารและน้ำดื่ม ช่วงระหว่างอุทกภัยชาวชุมชนหันตราฯส่วนใหญ่ (ร้อยละ20) อพยพไปอยู่บ้านญาติในต่างอำเภอของจังหวัด เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปตลาดและสาธารณูปการได้และความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง ส่วนชาวเคหะชุมชนฯ ยังคงอยู่อาศัยในชุมชน แล้วจัดการที่อยู่อาศัยโดยการยกทรัพย์สินขึ้นที่สูงและบนหลังคา อยู่อาศัยบนหลังคาเพราะจำเป็นต้องอยู่เฝ้าทรัพย์สิน หลังน้ำท่วม ร้อยละ 80 ของครัวเรือนในทั้งสองชุมชนทำการซ่อมแซมบ้านให้อยู่ในสภาพเดิม มีเพียงร้อยละ10 ที่ซ่อมแซมเพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วมในอนาคต เคหะชุมชนฯจัดการที่อยู่อาศัยในภาวะอุทกภัยได้ดีกว่าชุมชนหันตราฯ เนื่องจาก ผู้นำชุมชนมีความสามารถและประสบการณ์ แต่ผู้อยู่อาศัยก็ยังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าอุปโภคบริโภคระหว่างภาวะอุทกภัยสูงถึง 8,422 บาท (ร้อยละ 65 ของรายได้ครัวเรือน) และค่าใช้จ่ายซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสูงถึง30,000บาท(2เท่าของรายได้ครัวเรือน)เกินจากเงินที่ได้รับชดเชยถึง10,000บาท จาก ปัญหาที่พบ เสนอแนะให้ 1. ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรศึกษาบทเรียน เตรียมแผนรับมือ จัดการเผยแพร่ความรู้เรื่องการจัดการที่อยู่อาศัยและการอยู่อาศัยในภาวะ อุทกภัยทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน เพื่อเตรียมรับอุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 2. ควรมีการวางแผนและเตรียมการตั้งศูนย์อพยพและวิธีอพยพในภาวะอุทกภัย 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวน เพื่อออกข้อกำหนดท้องถิ่นให้ความสูงของบ้านชั้นเดียวสูงพอที่จะมีชั้นลอยได้