Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจภายในเกาะเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจากนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐโดยที่นโยบายเหล่านั้นเกิดขึ้นมาจากทุนวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ภายในจังหวัดเอง โดยผลการศึกษาได้ตอบว่า ประการแรก กระบวนการปฏิบัติและดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกอบไปด้วยผู้แสดงดังต่อไปนี้คือ หน่วยงานราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมศิลปากร และสุดท้ายคือ หน่วยงานภาคเอกชน องค์กร หรือมูลนิธิการกุศลต่างๆ ประการที่สอง นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย หนึ่งนโยบายภาครัฐ สองได้แก่ กลยุทธ์ส่งการตลาดของการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสามได้แก่ กิจกรรมพิเศษอื่นๆ ที่น่าสนใจในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประการที่สาม กระบวนการออกนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ หรือกระบวนการดำเนินมาตรการที่ภาครัฐร่วมมือกันกับองค์กรเอกชน ล้วนเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งสิ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกๆปี และรายได้จากการท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อยุธยาเป็นสถานทีท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอย่างจริงจัง ประการที่สี่ จากการศึกษาพบว่า "ทุนวัฒนธรรม" คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเจริญเติบโต ประการที่ห้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีทุน คือ วัฒนธรรม แรงงาน คือบุคลากรทุกคนที่ช่วยกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสุดท้ายคือ ที่ดิน คือที่ดินบริเวณเนื้อที่ในอุทยานประวัติพระนครศรีอยุธยา เหล่านั้นคือจัดว่าเป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิต และประการที่หก สามารถวิเคราะห์ได้ว่าทุนวัฒนธรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นถูกจัดอยู่ใน 2 ประเภท คือทุนวัฒนธรรมประเภทฝังราก (Embodied Cultural Capital) กับ ทุนวัฒนธรรมในรูปสิ่งของ (Objectified Cultural Capital) จากผลการศึกษาทั้งหมดสามารถกล่าวได้ว่าหาก ขาดซึ่ง "ทุนวัฒนธรรม" แล้วผู้วิจัยเห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะไม่เกิดขึ้นและเจริญเติบโตเทียบเท่าทุกวันนี้