Abstract:
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาและตรวจสอบความตรงของโมเดลเชิงสาเหตุของความพึงพอใจในงาน โดยมีแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องาน ข้อเรียกร้องในงานเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรง และมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านตัวแปรส่งผ่านความผูกใจมั่นในงานและความเหนื่อยหน่ายในงาน (2) ศึกษาและเปรียบเทียบขนาดอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในงาน กลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานที่ปฏิบัติงานในบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจและภาครัฐ ที่มีอายุงานในองค์การ/บริษัทไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิง จำนวน 601 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ (1) มาตรวัดแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องาน (2) มาตรวัดข้อเรียกร้องในงาน (3) มาตรวัดความผูกใจมั่นในงาน (4) มาตรวัดความเหนื่อยหน่ายในงาน (5) มาตรวัดความพึงพอใจในงาน ผลการวิจัยพบว่า 1.โมเดลเชิงสาเหตุของอิทธิพลของแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องาน ข้อเรียกร้องในงานที่มีต่อความพึงพอใจในงานของพนักงาน โดยมีความผูกใจมั่นในงานและความเหนื่อยหน่ายในงานเป็นตัวแปรส่งผ่านมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2 =30.79, N = 601, p =.128, RMSEA=0.02, GFI= 0.99, AGFI=0.97) 2.แหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องานเป็นตัวแปรแฝงภายนอกที่มีอิทธิพลทางตรงและอิทธิพลทางอ้อมต่อความผูกใจมั่นในงานสูงสุด อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 3.ข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรคเป็นตัวแปรแฝงภายนอกที่มีอิทธิพลทางตรงสูงสุด ในขณะที่แหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องานมีอิทธิพลทางอ้อมต่อความเหนื่อยหน่ายในงานสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 4.ข้อเรียกร้องในงานที่เป็นอุปสรรคเป็นตัวแปรแฝงภายนอกที่มีอิทธิพลทางตรงสูงสุด ในขณะที่แหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องานมีอิทธิพลทางอ้อมต่อความพึงพอใจในงานสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 5.ความเหนื่อยหน่ายในงานเป็นตัวแปรแฝงภายในที่มีอิทธิพลทางตรงสูงสุด ในขณะที่ความผูกใจมั่นในงานมีอิทธิพลทางอ้อมสูงสุดต่อความพึงพอใจในงานอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01