Abstract:
ศึกษาถึงการยอมรับความพิการของคนพิการทางการเคลื่อนไหว และการปรับตัวทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคมในการดำรงชีวิตประจำวัน ภายหลังการสูญเสียความสามารถทางการเคลื่อนไหวของคนพิการ รวมถึงศึกษาบทบาทของครอบครัวที่มีผลต่อการปรับตัวทั้ง 3 ด้านของคนพิการทางการเคลื่อนไหว โดยใช้เทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การวิจัยเชิงเอกสาร การสังเกตการณ์ และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกรณีศึกษาทั้งหมด 20 ราย โดยแบ่งออกเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวจำนวน 10 ราย และสมาชิกในครอบครัวของคนพิการจำนวน 10 ราย ผลการวิจัยพบว่า ขั้นตอนของการยอมรับความพิการของคนพิการทางการเคลื่อนไหว แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1) ระยะการรับรู้ เกิดขึ้นเมื่อคนพิการรับรู้ความจริงว่าตนเองต้องสูญเสียความสามารถทางการเคลื่อนไหวไปตลอดชีวิต 2) ระยะการเรียนรู้ เป็นระยะที่คนพิการเริ่มยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คนพิการจะเรียนรู้ในการปรับตัว และเรียนรู้บทบาทใหม่ในชีวิตของตนเอง และ 3) ระยะการยอมรับ เป็นระยะของการปรับตัวและปรับจิตใจให้ยอมรับกับสภาพของการเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว สำหรับการปรับตัวของคนพิการทางการเคลื่อนไหว แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ
1) การปรับตัวด้านร่างกาย เป็นเป้าหมายที่สำคัญเพื่อให้คนพิการทางการเคลื่อนไหวสามารถใช้ชีวิตในสภาพของความพิการได้สะดวกที่สุด ด้วยการดูแลฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้มีความแข็งแรง และปรับในเรื่องของพื้นที่และสภาพแวดล้อมภายในบ้าน 2) การปรับตัวด้านจิตใจ เป็นการปรับตัวที่สำคัญที่สุดของคนพิการทางการเคลื่อนไหว เนื่องจากสภาพทางด้านจิตใจนั้นมีผลกระทบต่อทุกด้านในการดำรงชีวิตของคนพิการ และ 3) การปรับด้านสังคม เป็นการปรับตัวของคนพิการทางการเคลื่อนไหวในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกับผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติ โดยบทบาทของครอบครัวมีผลต่อการยอมรับและการปรับตัวของคนพิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งคู่สามีภรรยาของคนพิการทางการเคลื่อนไหวมีบทบาทต่อการยอมรับ และการปรับตัวของคนพิการทางการเคลื่อนไหวมากกว่าครอบครัวโดยสายเลือด