Abstract:
ทำการศึกษาในสุนัขเพศผู้ จำนวน 14 ตัว น้ำหนักระหว่าง 11-15 กิโลกรัม แบ่งสุนัขเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 7 ตัว คือ กลุ่มควบคุม (euthyroid) และกลุ่มทดลอง ซึ่งกินแอลธัยร็อกซิน 3 มก. ต่อตัว ต่อวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (hyperthyroid) ในวันที่ทำการทดลองสุนัขแต่ละตัวจะถูกวางยาสลบและได้รับสารนอร์อิพิเนฟริน (NE) ในขนาด 0.1, 0.2, 0.4, 0.8 และ 1 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อนาที ฉีดเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ไตข้างซ้ายด้วยอัตรา 0.2 มิลลิลิตรต่อนาทีจนกว่าปัสสาวะจะหยุดไหล ทำการศึกษาการทำงานของไต ความดันเลือดและปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่นในช่วงควบคุมและภายหลังจากการฉีดสาร NE เมื่อสิ้นสุดการทดลองสุนัขจะถูกฉีดยาให้เสียชีวิต นำไตออกมาวัดการทำงานของเอนไซม์ Na-K ATPase และการใช้ออกซิเจนที่ไต ผลการทดลองพบว่าสุนัขกลุ่ม hyperthyroid ค่าความดันเลือดแดงเฉลี่ย (MAP) มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่อัตราการเต้นของหัวใจ (HR) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขกลุ่ม euthyroid ในสุนัขกลุ่ม hyperthyroid พบว่าอัตราการไหลของปัสสาวะ (V) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสำหรับอัตราการกรอง (GFR), อัตราการไหลของพลาสมา (ERPF), อัตราการไหลของเลือดที่ผ่านเข้าไต (ERBF) และอัตราการขับทิ้งโพแทสเซียม (UkV) และคลอไรด์ (UClV) ลดลงเมื่อเทียบกับสุนัขกลุ่ม euthyroid อย่างไรก็ตามในสุนัขกลุ่ม hyperthyroid พบว่าลดลงของอัตราการขับทิ้งโซเดียม (UNaV) มากกว่าสุนัขกลุ่ม euthyroid อย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) เมื่อฉีดสาร NE พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของ MAP ในขณะที่ HR, V, GFR, ERPF และ ERBF มีค่าลดลงจากช่วงควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) พบการลดลงของ UNaV, UKV และ UClV อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน (P<0.05) ในสุนัขทั้งสองกลุ่ม แต่สุนัขกลุ่ม hyperthyroid มีการลดลงของ GFR และ UNaV มากกว่าสุนัขกลุ่ม euthyroid อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) นอกจากนี้พบการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการขับทิ้งโซเดียม (FENa) และคลอไรด์ (FECl) ทางปัสสาวะในสุนัขกลุ่ม hyperthyroid มากกว่าสุนัขกลุ่ม euthyroid อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) การศึกษาความไวของสาร NE ที่ทำให้อัตราการกรองและอัตราการไหลของเลือดที่ผ่านเข้าไตลดลง 50% (ED50) พบว่า สุนัขกลุ่ม hyperthyroid มี ED50 น้อยกว่าแสดงว่าหลอดเลือดมีความไวมากกว่า จากการศึกษาการทำงานของเอนไซม์ Na-K ATPase และการใช้ออกซิเจนที่ไต พบการเพิ่มขึ้นของการทำงานของเอนไซม์ Na-K ATPase ที่ไตข้างที่ฉีด (ซ้าย) มากกว่าไตข้างที่ไม่ได้ฉีด (ขวา) ในสุนัขทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การทำงานของเอนไซม์ Na-K ATPase ที่บริเวณ oiter medulla ข้างซ้ายในสุนัขกลุ่ม hyperthyroid มีค่ามากกว่าสุนัขกลุ่ม euthyroid อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ภายหลังจากการได้รับสาร NE 40 นาที พบว่า สุนัขกลุ่ม euthyroid มีการใช้ออกซิเจนที่ไตลดลงจากช่วงควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ในขณะที่ O [subscript 2] extraction ratio มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน (P<0.05) สำหรับสุนัขกลุ่ม hyperthyroid พบว่าการใช้ออกซิเจนที่ไตและค่า O [subscript 2] extraction ratio มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าสุนัขกลุ่ม euthyroid และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสุนัขทั้งสองกลุ่มหลังจากฉีดสาร NE พบว่า สุนัขกลุ่ม hyperthyroid มีการใช้ออกซิเจนที่ไต และ O [subscript 2] extraction ratio มากกว่าสุนัขกลุ่ม euthyroid จากผลการทดลองทั้งหมดสรุปได้ว่า ธัยรอยด์ฮอร์โมนออกฤทธิ์ร่วมกับสาร NE จะเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือดแดงที่ไตและกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ Na-K ATPase ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของ O [subscript 2] extraction ratio ผลที่ได้คือ การขับทิ้งโซเดียมทางไตลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามธัยรอยด์ฮอร์โมนมีผลน้อยต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของไตโดยตรง ผลของธัยรอยด์ฮอร์โมนต่อระบบการไหลเวียนเลือดที่มีต่อการขับทิ้งโซเดียม การใช้ออกซิเจนและการทำงานของเอนไซม์ Na- K ATPase ยังไม่ทราบแน่ชัดและยังต้องมีการศึกษาต่อไป