Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินค่าความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคระหว่างเดือยฟันเสริมเส้นใยที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นไดเมทาคริเลตกับแกนฟันเรซินคอมโพสิต หลังจากปรับสภาพผิวเดือยฟันด้วยสารเคมี วัสดุและวิธีการวิจัย เดือยฟันยี่ห้อเอฟอาร์ซี โพสต์เทค พลัส จำนวน 96 แท่ง แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม่ปรับสภาพผิว กลุ่มที่ 2 ปรับสภาพด้วยกรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 นาน 1 นาที กลุ่มที่ 3 ปรับสภาพด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 30 นาน 10 นาที กลุ่มที่ 4-6 ปรับสภาพด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 30, 35, 50 นาน 1 นาที ตามลำดับ ศึกษาสภาพพื้นผิวของเดือยฟันหลังปรับสภาพผิวกลุ่มละ 1 แท่ง ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด แบ่งเดือยฟันแต่ละกลุ่มที่เหลือออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มย่อยที่ 1 ทาไซเลน กลุ่มย่อยที่ 2 ทาสารบอนด์ดิง กลุ่มย่อยที่ 3 ทาไซเลนและสารบอนด์ดิง วางเดือยฟันที่ปรับสภาพผิวแล้วกลางท่อพลาสติกใส แล้วฉีด มัลติคอร์โฟลว์เข้าไปในท่อพลาสติกและฉายแสง นำชิ้นเดือยฟัน-แกนฟันมาตัดเป็นชิ้นทดสอบรูปแท่ง จำนวน 20 ชิ้นต่อกลุ่ม เพื่อทดสอบค่าความแข็งแรงดึงระดับจุลภาค จำแนกความล้มเหลวของชิ้นทดสอบด้วยกล้องสเตอริโอไมโครสโคป วิเคราะห์ผลด้วยสถิติความแปรปรวนสองทางและวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยสถิติ ดันเนท ทีสาม ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการทดลอง การปรับสภาพผิวเดือยฟันด้วยสารเคมีสามารถเพิ่มความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) การทาไซเลนและสารบอนด์ดิงให้ค่าความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคสูงกว่าการทาสารบอนด์ดิงหรือไซเลนอย่างเดียว ตามลำดับ การปรับสภาพผิวเดือยฟันด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 30 นาน 1 นาที ตามด้วยการทาไซเลนและสารบอนด์ดิงให้ค่าความแข็งแรงดึงระดับจุลภาคสูงสุด สรุป การปรับสภาพผิวเดือยฟันเสริมเส้นใยที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นไดเมทาคริเลตด้วยสารเคมีตามด้วยไซเลนและ/หรือสารบอนด์ดิงสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงพันธะระหว่างเดือยฟันและแกนฟันเรซินคอมโพสิต