Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของความหวัง การมองโลกในแง่ดี และการเผชิญปัญหา ที่มีต่อความวิตกกังวลของผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังในชุมชนจำนวน 291 คน (ชาย 92 คน หญิง 199 คน) เครื่องมือวิจัย ประกอบด้วย มาตรวัดความหวัง มาตรวัดการมองโลกในแง่ดี มาตรวัดการเผชิญปัญหา และมาตรวัดความวิตกกังวลของผู้สูงอายุ การเก็บข้อมูลโดยให้ผู้สูงอายุตอบแบบสอบถามเป็นรายบุคคล การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสร้างสมการโครงสร้างโดยใช้โปรแกรมลิสเรล (LISREL) ผลการวิจัยพบว่า โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่แสดงถึงอิทธิพลของความหวัง การมองโลกในแง่ดี ที่มีต่อความวิตกกังวลของผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังในชุมชน โดยมีการเผชิญปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (X2 = 72.57, df = 58, p = .094, GFI = .97, AGFI = .94, RMSEA = .029) ทั้งนี้ ตัวแปรทั้งหมดในสมการสามารถอธิบายความแปรปรวนของความวิตกกังวลของผู้สูงอายุได้ร้อยละ 53.0 (R2 = .53, p < .001) โดยที่การเผชิญปัญหาด้านลบ (แบบหลีกหนีปัญหา และแบบการจมดิ่งกับอารมณ์) มีอิทธิพลทางตรงต่อความวิตกกังวลของผู้สูงอายุสูงที่สุด (β = .75, p < .001) รองลงมาเป็นความหวัง (β = -.52, p < .05) และการมองโลกในแง่ดี (β = -.13, p < .05) ทั้งนี้ ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อความวิตกกังวลของผู้สูงอายุผ่านการเผชิญปัญหาด้านลบมีเพียงตัวเดียว คือ ความหวัง (β = .21, p < .05)