Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ดรสา แบหลา: นาฏยศิลป์สร้างสรรค์จากวรรณคดีไทยเรื่อง อิเหนา” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ และศึกษาค้นคว้าหาแนวคิดในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ โดยใช้เครื่องมือที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ ทั้งการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ และแบบฝึกหัดทางนาฏยศิลป์ ซึ่งมุ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย ผลของการวิจัยในครั้งนี้ คือ ได้ผลงานการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ และได้แนวคิดในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ โดยผลงานการสร้างสรรค์นั้น สามารถจำแนกได้ตามองค์ประกอบของนาฏยศิลป์ออกเป็น 8 ประการดังนี้ 1) บทการแสดงที่สร้างสรรค์ใหม่บนพื้นฐานมาจากวรรณคดีของไทย 2) นักแสดงที่มีความถนัดและมีทักษะปฏิบัติทางการแสดงมากกว่าการเต้นรำ เพื่อการสื่อสารจินตภาพ อารมณ์ และความรู้สึกเป็นสำคัญ 3) ลีลาและการเคลื่อนไหวทางนาฏยศิลป์ตามแนวคิดของโพสโมเดิร์นดาร์นซ์ (Post Modern Dance) ที่เรียกว่า “อันเทรนดาร์นซ์เซอร์” (Un - Train Dancer) ในการฝึกฝนนักแสดง 4) เสียงและดนตรีประกอบที่เปิดกว้างทางความคิดและจินตนาการของผู้ชม 5) อุปกรณ์การแสดงภายใต้พื้นฐานแนวคิดที่เรียกว่ามินิมอลลิซึ่ม (Minimalism) โดยมุ่งเน้น ความประหยัด และความเรียบง่าย 6) พื้นที่การแสดงตามแนวคิด“ศิลปะเฉพาะที่”(Site Specific Art) ที่สามารถสื่อสารความหมาย และสร้างความเชื่อให้กับผู้ชม 7) แสงที่ใช้ทฤษฎีของสี มาเป็นส่วนสําคัญในการเล่าเรื่องและลําดับเหตุการณ์ 8) เครื่องแต่งกายที่ส่งเสริมบุคคลิกตัวละคร ที่เอื้อต่อลีลาและการเคลื่อนไหวของนักแสดง นอกจากนั้น แนวความคิดในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ก็สามารถสรุปประเด็นตามความสําคัญ ได้ดังนี้คือ 1) การคํานึงถึงการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์บนพื้นฐานของความเคารพวรรณคดีไทย 2) การคํานึงถึงเรื่องราววรรณคดีไทยที่ผสมผสานกับแนวคิดและรูปแบบของนาฏยศิลป์ตะวันตก 3) การคํานึงถึงการบูรณาการระหว่างนาฏยศิลป์กับศิลปะการละคร 4) การคํานึงถึงทฤษฎีและแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) 5) การคํานึงถึงทฤษฎีและแนวคิดโพสโมเดิร์น (Post – modern) 6) การใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อสารในการแสดง และ 7) การสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม ข้อสรุปจากผลการวิจัย ตลอดจนผลสำรวจจากแบบสอบถามในงานวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า “ดรสา แบหลา: นาฏยศิลป์สร้างสรรค์จากวรรณคดีไทยเรื่อง อิเหนา” เป็นผลงานการแสดงที่มีลักษณะเด่นที่เรียกว่า “พหุวัฒนธรรม” (Muticultural) คือการผสมผสานระหว่างเรื่องราวความเป็นไทย กับการนำเสนอในรูปแบบนาฏยศิลป์การละคร (Dance theatre) ของตะวันตก และยังมีความแตกต่างจาก ดรสา แบหลา ในรูปแบบนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ที่เคยปรากฎมาด้วยการตีความผ่านแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ชิ้นน้ีได้ จะสามารถเป็นตัวอย่างของสื่อการแสดงแนวใหม่ ในการถ่ายทอดและอนุรักษ์วรรณคดีไทย ในอนาคตต่อไป