Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์ในการประเมินวงรอบการสืบพันธุ์และศึกษาผลของการใช้ฮอร์โมนโพรสตาแกลนดินเอฟทูแอลฟ่าสังเคราะห์ต่อระดับฮอร์โมนเพศและลักษณะทางกายภาพของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ โดยการเจาะเลือดเพื่อวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนเพศร่วมกับการศึกษาลักษณะทางกายภาพของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์จากการสังเกต วัด และการอัลตราซาวด์ในปลากระเบนเพศผู้และเพศเมียเป็นเวลา 17 สัปดาห์ และเก็บข้อมูลดังกล่าวหลังจากการฉีดโพรสตาแกลนดินสังเคราะห์เป็นเวลา 26 วัน พบว่าปลากระเบนโมโตโร่ในบ่อเลี้ยงมีการปรับตัวให้มีรูปแบบของวงรอบการสืบพันธุ์แบบไม่พร้อมกันทั้งฝูงและสามารถสืบพันธุ์ได้ตลอดปีแตกต่างจากในประชากรในธรรมชาติ โดยระดับฮอร์โมนเพศไม่สามารถนำมาประเมินวงรอบการสืบพันธุ์โดยตรงได้ ในขณะที่ลักษณะทางกายภาพของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินวงรอบการสืบพันธุ์ ได้แก่ การเจริญของฟอลลิเคิล การตกไข่ การเปลี่ยนแปลงของมดลูก และความพร้อมในการผสมพันธุ์ของปลากระเบนเพศเมีย และการประเมินความเจริญพันธุ์และความพร้อมในการผสมพันธุ์ในปลากระเบนเพศผู้ได้ ซึ่งสามารถนำวิธีนี้มาใช้ในการประเมินรูปแบบและวงรอบการสืบพันธุ์ในปลากระเบนน้ำจืดที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ได้ การใช้โพรสตาแกลนดินเอฟทูแอลฟ่าแสดงผลชัดเจนต่อมดลูก ทำให้มดลูกลดขนาดลงรวมทั้งลดความยาวของเนื้อเยื่อผนังมดลูกภายใน 1 วัน จึงเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของมดลูกนี้จะเหนี่ยวนำให้เกิดการเตรียมพร้อมสำหรับวงรอบการสืบพันธุ์ครั้งใหม่ได้ ในขณะที่ฮอร์โมนดังกล่าวไม่แสดงผลชัดเจนต่อขนาดฟอลลิเคิลและระดับฮอร์โมนเพศ อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีรายงานการใช้โพรสตาแกลนดินเอฟทูแอลฟ่าสังเคราะห์ในปลากระดูกอ่อน