Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ด้านจิตใจของพนักงานภายหลังได้รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธผ่านมุมมองการรับรู้ของผู้ให้ข้อมูลผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประสบการณ์ดังกล่าว โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฎการณ์วิทยาร่วมกับวิธีวิจัยเชิงปริมาณแบบมาตรพหุมิติ (Multidimensional scaling: MDS) และการวิเคราะห์กลุ่มแบบขั้นตอน เพื่อแสดงในรูปแบบแผนที่มโนทัศน์ (Concept map) ผู้ให้ข้อมูลเป็นพนักงานบริษัทที่ได้รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ จำนวน 8 ราย (ชาย 2 รายและหญิง 6 ราย) ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) ตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้วิจัยเก็บข้อมูล 2 ส่วนคือการสัมภาษณ์เชิงลึกและการจัดบัตรคำเข้าประเภท (Card sorting) ผลการวิจัยพบประสบการณ์ของพนักงาน 9 ประเด็นหลักดังนี้ (1) การช่วยเหลือของนักจิตวิทยาการปรึกษา (2) การรับรู้บรรยากาศที่เกิดขึ้นในขณะพูดคุยปรึกษา (3) ความรู้สึกปลอดภัยในการพูดคุยปรึกษา (4) การกำหนดรู้ในตัวปัญหา (5) กระบวนการคลี่คลายปัญหาภายในตน (6) ผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการปรึกษา (7) ปัจจัยที่ยกระดับสภาวะใจของผู้มาปรึกษา (8) การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนของผู้มาปรึกษา และ (9) การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นประโยชน์ต่อพนักงานที่มาปรึกษา ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจการประสบการณ์ด้านจิตใจของพนักงานที่ได้รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและยังใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธที่จะทำงานกับผู้มาปรึกษาต่อไปอีกด้วย