Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเลือกใช้องค์ประกอบเรขศิลป์ หลักการออกแบบเรขศิลป์ หลักการจัดองค์ประกอบของภาพถ่าย และเทคนิควิธีการสร้างภาพประกอบระหว่างวัยทวีนผู้ชายและวัยทวีนผู้หญิง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์ที่เหมาะสมกับจุดจับใจ จากแนวความคิดคุณค่าหลัก 6 ประการของวัยทวีน โดย มาร์ติน ลินด์สตรอม ซึ่งวัยทวีน (Tween) เป็นคำที่เกิดขึ้นจากการผสมคำระหว่างคำว่า teen และ between หมายถึง คนหรือกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างเด็กและวัยรุ่น มีอายุระหว่าง 8–14 ปี ซึ่งวัยทวีนโตเกินไปที่จะเป็นเด็ก แต่ก็เด็กเกินไปที่จะเป็นวัยรุ่น วัยทวีนชอบความแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง เป็นกลุ่มที่เริ่มต้นรับรู้แบรนด์ และที่สำคัญเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก โดยมีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) แนวคิดทางการตลาดสำหรับวัยทวีน (Marketing to Tweens) (2) แนวคิดคุณค่าหลัก 6 ประการของวัยทวีน (Tween's 6 Core Values) ได้แก่ ความกลัว, ความเพ้อฝัน, อำนาจควบคุม, อารมณ์ขัน, ความรัก, และความมั่นคง (3) แนวคิดทางด้านสุนทรียศาสตร์และการออกแบบเรขศิลป์ (Aesthetics and Graphic Design) (4) แนวคิดโลกแห่งภาพ (World of Images) จากนั้นได้สร้างแบบสอบถามโดยได้ทำการเก็บข้อมูล 4 ช่วง ได้แก่ (1) ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน รวมทั้งการสอนในด้านการออกแบบเรขศิลป์ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 19 ท่าน โดยการตอบแบบสอบถามในลักษณะของการใช้ผู้เชี่ยวชาญ อ้างอิงจากวิธีเดลฟาย (Delphi Method) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการเลือกองค์ประกอบต่างๆ ในการออกแบบเรขศิลป์ตามจุดจับใจที่เหมาะสมสำหรับวัยทวีน (2) ข้อมูลจากวัยทวีนที่มีอายุระหว่าง 8-14 ปี อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 388 คน เพื่อนำองค์ประกอบต่างๆ ในการออกแบบเรขศิลป์ที่ผู้เชี่ยวชาญเลือกไว้ในช่วงแรก นำมาให้วัยทวีนได้ทำการเลือกอีกครั้ง โดยได้ทำการเก็บข้อมูลแยกเป็น 2 กลุ่ม โดยเป็นวัยทวีนผู้ชายจำนวน 193 คน และวัยทวีนผู้หญิงจำนวน 195 คน (3) ข้อมูลจากกลุ่มสนทนา (Focus Group) จำนวน 4 ครั้ง จากวัยทวีนทั้งหมด 102 คน ในช่วงเวลาประมาณ 6 เดือน โดยเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับวัยทวีน (4) ประเมินความพึงพอใจผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับวัยทวีนจากกลุ่มเป้าหมายทั้งสองเพศ ผลการวิจัยได้ค้นพบแนวทางในการออกแบบได้ทั้งหมด 12 แนวทาง แบ่งเป็นแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์สำหรับวัยทวีนผู้ชาย จำนวน 6 แนวทาง และเป็นแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์สำหรับวัยทวีนผู้หญิง จำนวน 6 แนวทาง ตามจุดจับใจจากคุณค่าหลัก 6 ประการของวัยทวีน โดยแต่ละแนวทางยังจัดประเภทของกลุ่มคำตอบไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มคำตอบที่แนะนำให้นำไปใช้เพื่อการออกแบบอย่างยิ่ง (2) กลุ่มคำตอบที่แนะนำให้นำไปใช้เพื่อการออกแบบ และ (3) กลุ่มคำตอบที่ไม่แนะนำให้นำไปใช้เพื่อการออกแบบ ผลการเปรียบเทียบลำดับการเลือกใช้องค์ประกอบเพื่อการออกแบบเรขศิลป์ในแต่ละจุดจับใจสำหรับวัยทวีนผู้ชายและวัยทวีนผู้หญิง พบว่า วัยทวีนทั้งสองเพศชอบลำดับในการเลือกใช้องค์ประกอบแบบเดียวกันเป็นส่วนมาก โดยมีความชอบแตกต่างกันระหว่างร้อยละ 9.67 ถึง 38.46 ขึ้นอยู่กับแต่ละจุดจับใจ ซึ่งสามารถนำเอาผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบได้ โดยจุดจับใจที่มีค่าร้อยละด้านความชอบในลำดับการเลือกใช้องค์ประกอบแบบเดียวกัน ระหว่างวัยทวีนผู้ชายและวัยทวีนผู้หญิงระดับสูง (ร้อยละ 80 ขึ้นไป) ซึ่งได้แก่ องค์ประกอบจากจุดจับใจด้านความกลัว ด้านอารมณ์ขัน ด้านความรัก และด้านความมั่นคง ก็อาจไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการออกแบบเฉพาะเพศเพื่อสื่อสารถึงจุดจับใจดังกล่าวมากนัก แต่หากจุดจับใจที่มีค่าร้อยละด้านความชอบในลำดับการเลือกใช้องค์ประกอบแบบเดียวกัน ระหว่างวัยทวีนผู้ชายและวัยทวีนผู้หญิงระดับกลางถึงระดับต่ำ (ร้อยละ 79.99 ลงมา) ซึ่งได้แก่ องค์ประกอบจากจุดจับใจด้านความเพ้อฝัน และด้านอำนาจควบคุม ก็จะต้องคำนึงถึงวิธีการออกแบบเฉพาะเพศให้มาก ผลการประเมินความพึงพอใจการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสำหรับวัยทวีนที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด โดยกลุ่มวัยทวีนผู้ชายจำนวน 30 คน ให้ระดับความคิดเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นด้านสร้างการจดจำได้ดี มีค่าเฉลี่ยที่ 4.43 ส่วนกลุ่มวัยทวีนผู้หญิงจำนวน 30 คน ให้ระดับความคิดเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นด้านมีความโดดเด่นสะดุดตา มีค่าเฉลี่ยที่ 4.30