Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการแสดง ตลอดจนความสำคัญของการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ในการแสดงแสงเสียงประกอบจินตภาพ เรื่อง วังลดาวัลย์ อดีตอันรุ่งเรือง สู่ปัจจุบันอันรุ่งโรจน์ ที่ส่งผลต่อบริบททางสังคม โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านเอกสาร (Review Data) และการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม (Field Data) ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบการแสดงประกอบด้วย บทการแสดง นักแสดง เครื่องแต่งกาย เพลงและดนตรีที่ใช้ในการแสดง ฉาก สถานที่ในการแสดง อุปกรณ์ประกอบการแสดง แสงที่ใช้ในการแสดง เสียงที่ใช้ในการแสดง การแต่งหน้าและทำผม การคัดเลือกนักแสดง การฝึกซ้อม ที่สำคัญที่สุดคือ ลีลาและท่าทางการเคลื่อนไหวในรูปแบบนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบลีลาและท่าทางการเคลื่อนไหวที่มาจากการเคลื่อนไหวตามชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) และศิลปะแนวเรียบง่าย (Minimalism) ซึ่งเป็นแนวความคิดของการแสดงนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ หรือโพสต์โมเดอร์นดานซ์ (Post – Modern Dance) ประกอบกับการแสดงละคร (Acting) การแสดงละครภาพนิ่งหรือตาโบลวิวังต์ (Tableau vivant) โนราห์ ซัดชาตรี และบัลเล่ต์โรแมนติก ซึ่งรูปแบบการแสดงที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนี้ ปรากฏอยู่ในแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน การกำกับการแสดง การบริหารจัดการแสดงอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพของศาสตราจารย์ ดร. นราพงษ์ จรัสศรี อันเป็นแนวทางในการศึกษา วิเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ในการแสดงแสงเสียงประกอบจินตภาพที่สำคัญต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ความสำคัญของการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ในการแสดงแสงเสียงประกอบจินตภาพ เรื่อง วังลดาวัลย์ อดีตอันรุ่งเรือง สู่ปัจจุบันอันรุ่งโรจน์ ยังส่งผลต่อบริบททางสังคมหลายด้าน ที่สำคัญที่สุดคือ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปะแขนงต่างๆ ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ ด้านคุณธรรมและจริยธรรม ที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมคือ วังลดาวัลย์ เป็นต้น