Abstract:
งานวิจัยและสร้างสรรค์ในครั้งนี้ใช้กระบวนการศึกษาจากทฤษฎีสัมพันธบทและบริบทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างงานศิลปะที่มีแรงบันดาลใจมาจากสมาชิกภายในครอบครัวซึ่งมีรากฐานมาจากชาวไทยเชื้อสายจีน โดยกำหนดระยะเวลาศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานครระหว่างพ.ศ. 2500-2517 ซึ่งเป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองอย่างกว้างขวาง และเป็นช่วงเวลาร่วมสมัยเดียวกันกับที่มารดาของผู้วิจัยได้เติบโตขึ้นและมีประสบการณ์การรับรู้ความเป็นไปของสภาพสังคมของชุมชนเมืองหลวงผ่านสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมบันเทิงในขณะนั้น ได้แก่ ภาพยนตร์ ละครวิทยุ และเพลงไทยสากล ผ่านช่องทางของเทคโนโลยีในการสื่อสารและผลงานศิลปะสมัยนั้นคือ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ และโปสเตอร์ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งในเรื่องการยอมรับนับถือของภาครัฐในสถานภาพความมีตัวตนอยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนภายใต้ยุคสมัยสร้างความเป็นไทย การยอมรับในเพศสภาพของความเป็นเพศแม่ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ผู้วิจัยได้ใช้กระบวนวิธีการตีความภายใต้กรอบทฤษฎีสัมพันธบทระหว่างบริบททางสังคม บทเพลงและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชุดการรับรู้ของมารดามาสู่ผลงานสร้างสรรค์ประเภทวีดีโออาร์ตซึ่งเป็นสื่อที่สามารถผสมผสานเนื้อหางานทั้งภาพและเสียงให้สอดคล้องเหมาะสมกับทฤษฎี หลักการและแนวคิดทางศิลปะโดยใช้วิธีการตีความและคัดสรรผลงานในอดีตนำกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ (Appropriation) เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดการระลึกถึงภาพความทรงจำทางสังคมในอดีต (Social Memory) ซึ่งมีผลต่อกระบวนการนำเสนอที่ผู้วิจัยจะต้องดำเนินเนื้อหาตามลำดับเหตุการณ์ทางสังคมโดยเลือกที่จะใช้หลักการเปิดเผยและซ่อนเร้นสัญญะต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นและจุดด้อยในช่วงชีวิตจากคำสัมภาษณ์ของมารดามาเป็นปัจจัยในการผลิตวีดีโออาร์ต โดยเลือกใช้บุคคลและสภาพแวดล้อมภายในชุมชนซอยเจริญนคร 13 ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยในปัจจุบันของมารดาเป็นพื้นที่ภาคสนามในการปฏิบัติงานวิจัยและสร้างสรรค์