Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง กลวิธีการแสดงบทบาทนางยักษ์แปลงในละครนอก มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นมา องค์ประกอบการแสดง กระบวนท่ารำและกลวิธีในการแสดง โดยเลือกศึกษาบทบาทการแสดงของนางยักษ์แปลง 3 บทบาทได้แก่ บทบาทนางสันธีในละครนอกเรื่อง รถเสน บทบาทนางผีเสื้อสมุทรแปลงในละครนอกเรื่อง พระอภัยมณี และบทบาทนางพันธุรัตแปลงในละครนอกเรื่อง สังข์ทอง โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยจากการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์การแสดง ตลอดจนรับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนาฏยศิลป์ไทยที่เป็นผู้แสดงบทนางยักษ์แปลง ผลการวิจัยพบว่า นางยักษ์แปลง หมายถึงตัวละครที่มีชาติกำเนิดเป็นยักษ์เพศหญิงและได้แปลงกายเป็นนางมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการแปลงกายที่แตกต่างกัน ได้แก่ ต้องการหาคู่ครองที่เป็นมนุษย์ หรือต้องการปิดบังชาติกำเนิดของตนเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์ บทนางยักษ์แปลงจึงเป็นบทบาทสำคัญสร้างความพลิกผันและสีสันในการดำเนินเรื่องราวของละครอย่างยิ่ง การแสดงบทบาทนางยักษ์แปลงในละครนอก ประกอบไปด้วย 1.บทบาทการรำซึ่งมีลักษณะของการรำตีบทตามคำร้องโดยใช้ท่ารำที่มาจากท่ามาตรฐานของตัวนาง และท่าที่เลียนแบบมาจากท่าธรรมชาติ และการรำในเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาของตัวละคร 2 บทบาทการเจรจาซึ่งมีลักษณะการเจรจาตามบทละครและการเจรจาเสริมบท กลวิธีในการแสดงมีลักษณะสำคัญดังนี้คือ การรำแบบมีจริต มีความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว เน้นใช้จังหวะในการรำและการใส่พลังลงไปในท่ารำ มีการเคลื่อนไหวอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ลีลาในการรำและการแสดงอารมณ์ตามบทบาทเน้นการแสดงออกอย่างเปิดเผยและมีลักษณะเกินจริง โดยแสดงออกผ่านทางสีหน้า แววตาและท่าทาง เช่นอารมณ์โกรธ อิจฉาริษยาจะใช้สีหน้าบึ้งตึง โดยวิธีการขมวดคิ้ว เบะปาก ส่งสายตาแข็งกร้าวอาฆาต กิริยาสะบัดสะบิ้ง อารมณ์รักจะใช้สีหน้ายิ้มแย้มส่งสายตาออดอ้อนยั่วยวน อารมณ์เสียใจ จะใช้สีหน้าแววตาเศร้าหมอง กิริยาสะอึกสะอื้น การเจรจาต้องใช้น้ำเสียงให้มีความสอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละคร ซึ่งตัวนางยักษ์แปลงทั้ง 3 บทบาท มีท่วงทีลีลาในการรำที่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันในด้านของการแสดงอารมณ์ ผู้แสดงบทบาทนางยักษ์แปลงต้องเป็นบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีทักษะทางนาฏยศิลป์ไทยเป็นอย่างดี มีบุคลิกภาพมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออก มีปฏิภาณไหวพริบสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี งานวิจัยทางด้านกลวิธีการแสดงจากบทบาทของตัวละครในนาฏยศิลป์ไทยยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อย ควรค่าแก่การศึกษาและจัดทำเป็นงานวิชาการด้านนาฏยศิลป์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการนาฏยศิลป์ไทยสืบไป