Abstract:
ครีแอทินินเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งที่ถูกใช้ในการประเมินสมรรถภาพการทำงานของไต งานวิจัยนี้พัฒนาอุปกรณ์การตรวจวิเคราะห์บนกระดาษสำหรับตรวจวัดครีแอทินินในปัสสาวะด้วยหลักการเอนไซม์ที่มีราคาถูก หรือเรียกว่า enz-PAD โดยใช้ปริมาตรน้ำยาที่เหลือจากตลับน้ำยาสำเร็จรูปของเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติในห้องปฏิบัติการทางคลินิกมาสร้าง enz-PAD บนกระดาษ Whatman No.3 ที่มีขนาด 4 x 40 มิลลิเมตรและมีบริเวณในการดูดซับน้ำยา 2 ชนิดแยกส่วนกัน การตรวจวัด ครีแอทินินในปัสสาวะทดสอบโดยจุ่ม enz-PAD ลงในหลุมที่มีตัวอย่างตรวจ เพื่อให้ครีแอทินินในตัวอย่างตรวจเคลื่อนที่ด้วยแรงแคปิลลารีของกระดาษมาทำปฏิกิริยากับน้ำยาที่ถูกดูดซับไว้ แล้วเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่มีสีสะสมอยู่ที่บริเวณตรวจวัดสีที่เกิดขึ้น เกิดจากปฏิกิริยาของเอนไซม์ครีแอทินิเนส เอนไซม์ครีแอทิเนส และเอนไซม์ซาโคซีนออกซิเดสที่เปลี่ยนครีแอทินินในตัวอย่างตรวจเป็น H2O2 ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยากับ 4-aminophenazone และ 2,4,6-triiodo-3-hydrozybenzoic acid โดยมีเอนไซม์เปอร์ออกซิเดสเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเกิดสารประกอบเชิงซ้อนสีชมพูของ quinoneimine บนพื้นที่สำหรับตรวจวัด การตรวจวัดครีแอทินินด้วย enz-PAD ที่พัฒนาขึ้น มีช่วงความเป็นเส้นตรง 2.5 – 25 mg dL-1 (r2 = 0.983) และความสามารถในการตรวจวัดต่ำสุดเท่ากับ 1.9 mg dL-1 เมื่อทำการตรวจวัดครีแอทินินในปัสสาวะที่ผ่านการเจือจางแล้วด้วย enz-PAD เปรียบเทียบกับวิธีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั้ง 2 วิธีคือ วิธีอัลคาไลน์พิเครทแบบไคเนติกพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงเส้น (r2) เท่ากับ 0.977 และไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.606, paired sample t-test, n = 40) และวิธีเอนไซม์มีความสัมพันธ์เชิงเส้น (r2) เท่ากับ 0.911 และไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.858, paired sample t-test, n = 50) ดังนั้นอุปกรณ์ตรวจวัดบนกระดาษที่พัฒนาขึ้นถือเป็นวิธีทางเลือกใหม่สำหรับตรวจกรองปริมาณ ครีแอทินินในปัสสาวะ เนื่องจากใช้งานง่าย ราคาถูก อีกทั้งยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการใช้งานในประเทศกำลังพัฒนา