Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและค้นคว้าความหมายและสาระของเนื้อร้องซึ่งเป็นอุดมคติในเพลงกล่อมเด็ก ในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย โดยใช้ข้อมูลในลักษณะใหม่ นั่นคือ การใช้วรรณกรรมประเภทมุขปะฐา (Oral literature) ได้แก่เพลงกล่อมเด็ก มาประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อนำมาศึกษา นัยทางสังคมการเมืองของเพลงกล่อมเด็กไทย แม้จุดประสงค์ของเพลงกล่อมเด็กจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสำหรับขับกล่อมเด็ก ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่แสดงถึงความผูกพันในครอบครัว แต่เนื้อหาสาระของบทเพลงบางบทมีการสอดแทรกบริบททางสังคมของไทยในอดีตที่กล่าวถึงนัยทางสังคมการเมืองไทย ซึ่งสะท้อนถึงการจัดตั้งทางสังคม ได้แก่ วิถีการผลิต พลังการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิต ผลการศึกษาพบว่า เพลงกล่อมเด็กทั้ง 4 ภาค ซึ่งผู้วิจัยศึกษาถึงนัยทางสังคมการเมืองไทย จากเนื้อหาสาระในเพลงกล่อมเด็กสะท้อนถึงการซ้อนเร้นทางสังคมที่มีรัฐคอยควบคุม โดยอธิบายภายใต้สมมุติฐานว่าความหมายในเพลงกล่อมเด็กบางเพลงผิดแผกไปจากหน้าที่ของการขับกล่อม ด้วยเนื้อหาสาระที่ควรจะมุ่งสื่อความหมายในทางสุนทรียศาสตร์โดยเฉพาะหากแต่เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านความคิดทางการเมือง และกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ของผู้ที่ขับกล่อม ซึ่งส่วนมากจะเป็นการสะท้อนชีวิตของไพร่ จึงสามารถใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในยุคศักดินา จากการศึกษาโดยใช้วรรณกรรมประเภทเพลงกล่อมเด็กเพื่อศึกษาบริบททางเศรษฐกิจการเมือง และสังคม มิได้หมายความว่า เพลงกล่อมเด็กทุกบทเพลงจะมีเนื้อหาแสดงถึงนัยทางสังคมการเมืองทั้งหมด บทบาทของเพลงกล่อมเด็กก็ยังคงทำหน้าที่ขับกล่อม ให้ความสุนทรีย์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีบทเพลงกล่อมเด็กที่มีเนื้อหา และสาระที่แสดงถึงนัยทางสังคมการเมืองไทย ผ่านกระบวนการจัดตั้งทางสังคม โดยรัฐ ที่ส่งผ่านมาในบทเพลงกล่อมเด็ก เพื่อให้เกิดมิติของเพลงกล่อมเด็ก ที่นำไปสู่การอธิบายบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของสังคมไทยในอดีต