Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาประสบการณการเรียนรู้ของนิสิตระดับปริญญาตรีโท และเอก สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ที่เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะเพื่อการพัฒนาภายในตน ในด้าน๑) มุมมองต่อตนเอง ๒) มุมมองต่อผู้อื่น และ ๓) มุมมองต่อวิชาชีพ งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อตอบคำถามวิจัย ๒ ข้อ คือ ๑) นิสิตสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยมีประสบการณ์การเรียนรู้ในการเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะเพื่อการพัฒนาภายในตนอย่างไร และ ๒) การเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะเพื่อการพัฒนาภายในตนทำให้นิสิตเกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมมองต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่อวิชาชีพ หรือไม่ อย่างไร ผู้เข้าร่วมการวิจัย คือ นิสิตสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยจำนวน ๑๒ คน ประกอบด้วย นิสิตปริญญาตรี จำนวน ๓ คน นิสิตปริญญาโท จำนวน ๓ คนและนิสิติปริญญาเอก จำนวน ๖ คน นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะเพื่อการพัฒนาภายในตนสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เป็นเวลา ๑ ภาคการศึกษา ผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลผลการวิจัย มีดังนี้๑. นิสิตสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ๔ ประเด็น คือ ๑) การมีสติรู้ตัว ๒) การเรียนรู้ตนเอง ได้แก่ การเข้าใจตนเอง การเป็นผู้สังเกตที่ละเอียดอ่อน การลดตัวตน การรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด การกระทำ และการคิดเป็นระบบ ๓) การเรียนรู้ผู้อื่น ได้แก่ การฟังอย่างตั้งใจ และการเปิดรับ และ ๔) การเรียนรู้ชีวิต ได้แก่ การเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การเข้าใจถึงความไม่เที่ยงของชีวิต และการเห็นคุณค่าในสรรพสิ่ง ๒. นิสิตสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อวิชาชีพ ดังนี้ ๑) มุมมองต่อตนเอง ได้แก่ การพัฒนาตนเอง และการเห็นคุณค่าในตนเอง ๒) มุมมองต่อผู้อื่น ได้แก่ การเข้าใจและเปิดใจรับ และ ๓) มุมมองต่อวิชาชีพ ได้แก่ การพัฒนาภายในตนของครู และการมีเมตตาต่อเด็ก ผลของการวิจัย พบว่า สุนทรียะทางศิลปะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภายใน ถือเป็นงานท้าทายสำหรับการพัฒนาครูการศึกษาปฐมวัย ในการบูรณาการความรู้ภาคทฤษฎีเข้ากับศิลปะเพื่อสร้างครูที่มีความเข้าใจในตนเองและชีวิต