Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ที่ความเชื่อว่าโลกยุติธรรม การนับถือศาสนาภายในและการนับถือศาสนาภายนอกมีกับความสุขเชิงอัตวิสัยและสุขภาวะทางจิต โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนิสิตระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 180 คน ใช้เครื่องมือในงานวิจัยได้แก่ มาตรวัดความสุขเชิงอัตวิสัย (α = .81) มาตรวัดสุขภาวะทางจิต (α = .79) มาตรวัดความเชื่อว่าโลกยุติธรรม (α = .82) มาตรวัดการนับถือศาสนาภายใน (α = .94) และการนับถือศาสนาภายนอก (α = .88) ผลการวิเคราะห์พบว่าความสุขเชิงอัตวิสัย มีสหสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความเชื่อว่าโลกยุติธรรม [r(178) = .25, (p < .01, หนึ่งหาง)] การนับถือศาสนาภายใน [r(178) = .16, (p < .05, หนึ่งหาง)] และการนับถือศาสนาภายนอก [r(178) = .17, (p < .01, หนึ่งหาง)] ในส่วนของสุข-ภาวะทางจิตนั้น มีสหสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความเชื่อว่าโลกยุติธรรม [r(178) = .21, (p < .01, หนึ่งหาง)] และการนับถือศาสนาภายใน [r(178) = .20, (p < .05, หนึ่งหาง)] หากแต่ไม่มีสหสัมพันธ์กับการนับถือศาสนาภายนอก [r(178) = .02, (ns)] ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) พบว่าความเชื่อว่าโลกยุติธรรม การนับถือศาสนาภายใน และการนับถือศาสนาภายนอกร่วมกันทำนายความแปรปรวนของความสุขเชิงอัตวิสัยได้ร้อยละ 5 (R2 = .05, p < .01) หากเมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยมาตรฐานแล้ว พบว่ามีเฉพาะค่าสัมประสิทธิ์ของความเชื่อว่าโลกยุติธรรมเท่านั้นที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (β = 0.22, p < .05) นอกจากนี้ การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ พบว่าปัจจัยทั้งสามร่วมกันทำนายความแปรปรวนของสุขภาวะทางจิตได้ร้อย-ละ 7 (R2 = .07, p < .05) แต่เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยมาตรฐานพบว่ามีเฉพาะค่าสัมประสิทธิ์ของการนับถือศาสนาภายใน (β = 0.23, p < .05) และการนับถือศาสนาภายนอกเท่านั้นที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (β = -0.19, p < .05)
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2557
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2014