Abstract:
การศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ จิตอาสา และสุขภาวะทางจิตในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ จิตอาสา และสุขภาวะทางจิตในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา คณะ เป็นต้น แบบวัดบุคลิกภาพแบบห้าองค์ประกอบ แบบวัดแรงจูงใจอาสา และแบบวัดสุขภาวะทางจิต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ การวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นต้น และการวิเคราะห์ใช้สถิติอ้างอิง ได้แก่ การวิเคราะห์หาค่าสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. บุคลิกภาพด้านแสดงตัว ด้านเปิดรับประสบการณ์ ด้านมีจิตสำนึก และด้านประนีประนอมมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับจิตอาสา อย่างมีนัยสำคัญทางสติถิ โดยที่มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ( r = .256, p < .01), ( r = .284, p < .01), ( r = .103, p < .05) , ( r =.108, p < .05) ตามลำดับ 2. บุคลิกภาพด้านหวั่นไหวไม่มีสัมพันธ์กับจิตอาสาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( r =.042, p < .05) 3. บุคลิกภาพด้านแสดงตัว ด้านเปิดรับประสบการณ์ ด้านมีจิตสำนึก และด้านประนีประนอมมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะทางจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ ( r = .406, r = .309, r = .316, r =.192, p < .01) ตามลำดับ 4. บุคลิกภาพด้านหวั่นไหวมีสหสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาวะทางจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( r = -.596, p < .01) 5. จิตอาสาไม่มีสหสัมพันธ์กับสุขภาวะทางจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( r = .068, p < .01) 6. บุคลิกภาพด้านแสดงตัว บุคลิกภาพด้านเปิดรับประสบการณ์ บุคลิกภาพด้านมีจิตสำนึก บุคลิกภาพด้านประนีประนอม บุคลิกภาพด้านหวั่นไหว และจิตอาสาร่วมกันทำนายสุขภาวะทางจิตของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีได้ โดยค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยมาตรฐาน (β) ของลักษณะบุคลิกภาพด้านแสดงตัว มีค่าเท่ากับ .251 ( p < .05) ลักษณะบุคลิกภาพด้านการเปิดรับประสบการณ์ มีค่าเท่ากับ .101 ( p < .05) ลักษณะบุคลิกภาพด้านการมีจิตสำนึก มีค่าเท่ากับ .131( p < .05) ลักษณะบุคลิกภาพด้านประนีประนอม มีค่าเท่ากับ .004 ( p > .05) ลักษณะบุคลิกภาพด้านหวั่นไหว มีค่าเท่ากับ -.477 ( p < .05) และจิตอาสา มีค่าเท่ากับ -.059 ( p > .05) และสามารถร่วมกันทำนายความแปรปรวนของสุขภาวะทางจิตได้ร้อยละ 45.6
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2554
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2011