Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานที่มีต่อ (1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (2) ทักษะการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (3) เจตคติต่อการ เรียนวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ระดับชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 68 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 34 คน และกลุ่มควบคุม 34 คน ใช้เวลาดำเนินการวิจัย 9 สัปดาห์ เครื่องมือที่ ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นแบบสอบ ปรนัยชนิดเติมคำตอบ ถ้าตอบถูกให้ 1 คะแนน ตอบผิดให้ 0 คะแนน มีค่าความยากอยู่ระหว่าง 0.38 – 0.75 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.25 – 0.75 และค่าความเที่ยงเฉลี่ยรวม 0.72 (2) แบบวัด ทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นแบบสอบปรนัย ชนิดเติมคำตอบ แบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ให้คะแนนตามเกณฑ์ (Rubric) (3) แบบทดสอบเจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ลักษณะ ของข้อคำถามเป็นมาตรประมาณค่า 5 ระดับ (rating scale) โดยเป็นคำถามเชิงบวกและเชิงลบ ถาม ความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านสติปัญญา ด้านความรู้สึก และด้านการปฏิบัติ มีค่าความเที่ยงทั้งฉบับเท่ากับ 0.80 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติบรรยาย หาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทำการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการแก้ปัญหา คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน และเจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนกลุ่มทดลองและ นักเรียนกลุ่มควบคุมด้วยการทดสอบทีแบบกลุ่มตัวอย่างเป็นอิสระต่อกัน (independent sample t-test) สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมในชั้นเรียน และใช้ข้อมูลจาก บันทึกหลังสอน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการ แก้ปัญหาคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน และเจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า 1. นักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการแก้ปัญหา คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2. นักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีเจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยทั้งสองกลุ่มมีเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ทั้งก่อนและหลัง เรียนอยู่ในระดับปานกลาง