Abstract:
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาการวิเคราะห์ชนิดและปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในแหล่งน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และอ่าวไทยตอนบน โดยเก็บตัวอย่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา 20 ตัวอย่างต่อ 1 ฤดูจากแม่น้ำบางปะกง 12 ตัวอย่างต่อ 1 ฤดูจากแม่น้ำท่าจีน 12 ตัวอย่างต่อ 1 ฤดูและอ่าวไทยตอนบน 25 ตัวอย่างในช่วงฤดูน้ำหลากระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม และในช่วงฤดูน้ำแล้งระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน ปีพ.ศ. 2526-2527 การวิเคราะห์หาชนิดของปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนโดยใช้เทคนิคแกสโกรมาโทกราฟี และแมสสเปกโตรเมตรี (GC, GC/MS) พบว่ารูปแบบ (Pattern) ของโครมาโทแกรมแสดงจำนวนอะตอมของคาร์บอนในปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนที่วิเคราะห์เป็น C15-C32ซึ่งเป็นกลุ่มสารประกอบประเภทนอร์มัลอัลเคนเป็นส่วนใหญ่ การวิเคราะห์เปรียบเทียบปริมาณสารในระหว่างฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้งโดยใช้เทคนิคสเปกโตรฟลูออโรเมตรี พบว่าในช่วงฤดูน้ำหลาก ในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนอยู่ในช่วง 0.190-0.431 ไมโครกรัมต่อลิตร แม่น้ำบางปะกงพบอยู่ในช่วง 0.056-0.406 ไมโครกรัมต่อลิตร แม่น้ำท่าจีนอยู่ในช่วง 0.260-0.550 ไมโครกรัมต่อลิตร และอ่าวไทยตอนบนพบอยู่ในช่วง 0.172-0.826 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนในฤดูน้ำแล้งในแม่น้ำเจ้าพระยามีสารอยู่ในปริมาณ 0.514-0.799 ไมโครกรัมต่อลิตร แม่น้ำบางปะกงอยู่ในช่วง 0.318-0.678 ไมโครกรัมต่อลิตร แม่น้ำท่าจีนอยู่ในช่วง 0.248-0.745 ไมโครกรัมต่อลิตร การเปรียบเทียบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนโดยอาศัยหลักทางสถิติพบว่า ช่วงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาตรปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนมากกว่าแหล่งน้ำอื่นๆ แต่ปริมาณแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนในฤดูน้ำแล้งพบว่าในแหล่งน้ำทั้ง 3 มีปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนมากน้อยเรียงตามลำดับคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .01
การวิเคราะห์เปรียบเทียบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในแหล่งน้ำเดียวกันใน 2 ช่วงฤดู พบว่าในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกงมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.1 ส่วนในแม่น้ำท่าจีนจะมีปริมาณแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลจากการศึกษาวิธีการวิเคราะห์ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนโดยเทคนิคการชั่งน้ำหนัก การวัดค่าการดูดกลืนแสงอินฟราเรด และวิธีสเปกโตรฟลูออโรเมตรีเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน พบว่าข้อมูลที่ได้จากเทคนิคดังกล่าวจะให้รายละเอียดแตกต่างกัน การคำนวณเปอร์เซนต์การกลับคืน (percent recovery) โดยใช้เทคนิคส์สเปกโตรฟลูออโรเมตรีเท่ากับ 92.4 และพบว่าการใช้นอร์มัลเฮกเชนในการสกัดสารตัวอย่างให้ปริมาณสารวิเคราะห์กลับคืนสูงกว่ากรณีใช้คาร์บอกเททระคลอไรด์