Abstract:
งานวิจัยเรื่องกลองก้นยาวระเบียบวิธีการบรรเลงและการประสมวง ผลการวิจัยพบว่ากลองก้นยาวถือเป็นกลองที่มีความสำคัญที่สุดของชาวไทยเชื้อสายไทใหญ่ มีการเรียกชื่อกลอง ๒ ชื่อได้แก่กลองก้นยาวและกลองปูเจ่ ผลของการสืบค้นพบว่ากลองชนิดนี้ควรเรียกชื่อว่า “กลองก้นยาว” สำหรับชื่อ “ปูเจ่” พบที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นชื่อที่ไม่ถูกต้องและมีที่มาอย่างไร ลักษณะทางกายภาพของกลองก้นยาวพบว่ามีความสูงตั้งแต่ ๑.๒ เมตรไปจนถึง ๓ เมตร วิธีการประสมวงประกอบด้วยกลองก้นยาว ๑ ใบ “มอง” หรือโหม่งมากกว่า ๓ ใบ โดยเสียงจะต้องห่างกัน ๔ – ๕ เสียง ระเบียบวิธีการบรรเลงวงกลองก้นยาวนิยมใช้โหม่งตีตั้งจังหวะก่อนเป็นส่วนใหญ่ กลองก้นยาวเป็นกลองที่ตีในงานบุญประเพณี ปอยส่างลอง ออกพรรษา ตีประกอบการแสดงฟ้อนนก ฟ้อนโต ฟ้อนมือ ฟ้อนดาบและตีในขบวนแห่ เสียงของกลองประกอบด้วยเสียง “กะ” “ปี้” “ยุบ” “เป้ง” หรือเสียง “เป้” หรือเสียง “เปิ้ง” หรือเสียง “เทิ่ง” หรือเสียง “เปิง” หรือเสียง “เป้ง” หรือเสียง “เพิ่ง” เสียง “ป๊ะ” “ตุ๊บ” หรือเสียง “ปุ๊บ” เสียง “ถึ่ง” หรือเสียง “ทึง” หรือ เสียง “อึ่ง” หรือเสียง “โฮง” กลองก้นยาวกับการฟ้อนนกกิ่งกะหล่ามีการแบ่งกระสวนทำนองขึ้นต้นให้มีความห่างในระยะเท่าๆกันมีการทอนกระสวนทำนองกลองเป็นชุดเรียกว่า “กลองปี่ยุบ” หรือ “เป้ยุบ” กลองก้นยาวประกอบการฟ้อนโตพบว่าทุกพื้นที่มีการตีกระสวนทำนองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มีการใช้เสียง “ตุ๊บ” ช่วงโตส่ายหัวและใช้เสียง “เปิ้ง” ช่วงม้วนตัวและขยับร่างกายตามจังหวะเป็นส่วนใหญ่ การตีกลองก้นยาวสำหรับการฟ้อนโตมีการใช้ “ลูกส้น” หรือการทุบกลองเข้ามาประกอบด้วย การตีกลองก้นยาวกับการฟ้อนดาบและฟ้อนมือ การขึ้นต้นจะมีกระสวนทำนองกลองแบบตั้งหลัก มีการตีลูกส้นหรือการทุบกลองในลักษณะ “การลักจังหวะ” มีการตีลูกส้นแบบ “ตรงจังหวะ” มีการเล่นหน้ากลองที่เรียกว่า “การยักหน้ากลอง” หรือการตีเสียง “ดิ๋ว ดิ้ว” กระสวนทำนองกลองก้น-ยาวตีประกอบการแห่ใช้กระสวนทำนองไม่ซับซ้อนในลักษณะลงตัวมีจำนวนห้องโน้ตเท่า ๆ กัน บรรเลงซํ้ากัน มีการทอนกระสวนทำนอง มีลักษณะการตีในรูปแบบ “การลักจังหวะ” ไปตลอดชุดทำนองและมีการตีสำนวนปิดท้ายชุดทำนอง อัตราความเร็วประกอบการฟ้อนนกกิ่งกะหล่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะตีแนวช้าแต่ถ้าฟ้อนโตจะตีแนวเร็ว ตรงข้ามกับชาวไทใหญ่แท้ ๆ ที่ตีประกอบฟ้อนนกแนวเร็วและตีประกอบฟ้อนโตแนวช้า สำหรับเชียงใหม่ในทุก ๆ การแสดงจะใช้แนวเร็วทั้งหมด แนวโน้มการคงอยู่ของกลองก้นยาวแม้ว่าจะมีแนวโน้มมีผู้ตีน้อยลงเนื่องด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตชุมชน ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวัฒนธรรม ช่วยกันทำการอนุรักษ์และพยายามสืบทอดต่อเยาวชนอย่างต่อเนื่อง พบได้จากการออกเก็บข้อมูลภาคสนามมีนักเรียนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมและมีความสามารถตีกลองก้นยาวและแสดงฟ้อนนก ฟ้อนโต ฟ้อนดาบและร่วมขบวนแห่ในงานประเพณีของชุมชนได้