Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้น้ำมันตะไคร้แกงเป็นวัตถุเติมในอาหารไก่ แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 เป็นการศึกษาเบื้องต้นที่ทดลองในไก่ไข่เพศเมีย พันธุ์ Babcock B-380 จำนวน 52 ตัว แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มการทดลอง กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มควบคุม ได้รับอาหารพื้นฐาน กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ได้รับอาหารที่มีการเสริมน้ำมันตะไคร้แกงขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าไก่กลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมน้ำมันตะไคร้แกงขนาด 400 มก./กก. มีจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจนในลำไส้เล็กต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) นอกจากนี้พบว่าไก่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันตะไคร้แกงขนาด 100 มก./กก. อาหาร มีระดับแอนติบอดีที่ตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลที่อายุ 56 วัน สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ขณะที่น้ำหนักตัวไก่ ปฏิกิริยาต้านออกซิเดชั่นของไขมัน และลักษณะจุลกายวิภาคของผนังลำไส้เล็ก ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในแต่ละกลุ่มการทดลอง การทดลองที่ 2 ศึกษาในไก่เนื้อเพศเมียพันธุ์ Cobb 500 จำนวน 144 ตัว แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มการทดลองและได้รับอาหารที่มีการเสริมน้ำมันตะไคร้แกงในระดับเดียวกับการทดลองที่ 1 ผลการศึกษาพบว่า การเสริมน้ำมันตะไคร้แกงในอาหารมีผลเพิ่มสมรรถนะการเจริญเติบโตในไก่เนื้อ โดยไก่ที่ได้รับการเสริมน้ำมันตะไคร้แกงในอาหารทั้งสามขนาดมีน้ำหนักตัวที่อายุ 42 วัน มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยที่ไก่กลุ่มที่ได้รับการเสริมน้ำมันตะไคร้แกงในขนาด 400 มก./กก. อาหาร มีปริมาณการกินอาหารสะสม ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และอัตราแลกเนื้อของไก่กลุ่มที่ได้รับการเสริมน้ำมันตะไคร้แกงในขนาด 200 และ 400 มก./กก. น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ไก่ที่ได้รับอาหารที่เสริมน้ำมันตะไคร้แกงทั้งสามขนาด มีปริมาณ MDA ซึ่งเป็นผลจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันในซีรั่มโดยเฉลี่ย ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กลุ่มที่ได้รับน้ำมันตะไคร้แกงเสริมในอาหารทั้งสามขนาดมีสมรรถนะของ -amylase มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กลุ่มที่ได้รับการเสริมน้ำมันตะไคร้แกงในขนาดสูง มีจำนวนเชื้อ E. coli ลดลง และอัตราส่วนของจำนวนเชื้อ Lactobacilli ต่อ E. coli สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยสรุปแล้ว น้ำมันตะไคร้แกงสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร และมีผลกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในไก่ไข่ และมีผลในการเพิ่มสมรรถนะการเจริญเติบโต ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันในเลือด เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ช่วยย่อยจากตับอ่อน และปรับสมดุลของเชื้อจุลชีพในทางเดินอาหารในไก่เนื้อ แสดงให้เห็นว่าน้ำมันตะไคร้แกงมีผลที่ดีในการเพิ่มสมรรถนะของไก่ไข่และไก่เนื้อ จึงมีศักยภาพที่จะนำไปใช้เป็นวัตถุเติมในอาหารไก่