Abstract:
การวิจัยครั้งนี้นี้ว่าด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ของนาฏยศิลป์พิธีกรรมราชสำนักกับนาฏยศิลป์พิธีกรรมพื้นบ้าน การศึกษาอาศัยทฤษฎีทางมานุษยวิทยาเรื่องวัฒนธรรมและอนุวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานการศึกษาครั้งนี้มีสมมติฐานว่านาฏยศิลป์พิธีกรรมของทุกเผ่าพันธ์มีแนวคิดใกล้คล้ายคลึงกันและมีความสัมพันธ์ในแง่ที่อาจเป็นแบบให้แก่กัน เพราะนาฏยศิลป์พิธีกรรมคือนาฏยศิลป์ที่แสดงบทบาททางพิธีกรรมงานวิจัยฉบับนี้มี ๕ บท บทแรกคือบทนำ บทที่สองคือวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง มีประเด็นว่าด้วยนาฏยศิลป์ในบริบทวัฒนธรรมไทย ทฤษฎีวัฒนธรรมและอนุวัฒนธรรม สถานะของนาฏยศิลป์ในสังคมไทยและความสัมพันธ์ของศิลปะกับศาสนาและความเชื่อ บทที่สามว่าด้วยนาฏยศิลป์พิธีกรรมที่ปรากฏในสังคมไทย บทที่สี่ว่าด้วยการศึกษาวิเคราะห์และการศึกษาความสัมพันธ์ของนาฏยศิลป์พิธีกรรมในราชสำนักและนาฏยศิลป์พิธีกรรมพื้นบ้านของไทย บทที่ห้าแสดงข้อสรุปของการศึกษาและข้อเสนอแนะ นาฏยศิลป์พิธีกรรมราชสำนักและนาฏยศิลป์พิธีกรรมพื้นบ้านต่างก็ได้รับอิทธิพลของศาสนาและความเชื่ออันเป็นบริบท ได้แก่พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และการนับถือผี ทั้งนี้เพื่อรักษาแนวคิดปรัชญาของศาสนาและความเชื่อเหล่านี้ การศึกษาพบว่านาฏยศิลป์พิธีกรรมของไทยแบ่งได้เป็นสี่ประเภท คือ ๑) นาฏยศิลป์พิธีกรรมเพื่อการบูชา ๒) นาฏยศิลป์พิธีกรรมเพื่อการรักษา ๓) นาฏยศิลป์พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงรอบชีวิต และ ๔) นาฏยศิลป์พิธีกรรมทางสังคมและพบว่านาฏยศิลป์พิธีกรรมราชสำนักและนาฏยศิลป์พิธีกรรมพื้นบ้านมีความสัมพันธ์ในแง่ที่มีอิทธิพลแก่กันในวัฒนธรรมทางพิธีกรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง