Abstract:
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี (13º 12́ N) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่การแพร่กระจายของลิงหางยาว (Macaca fascicularis) และอยู่ใต้เขตพื้นที่การแพร่กระจายของลิงวอก (M. mulatta) แต่จากการสำรวจเบื้องต้นของทีมผู้วิจัยในปี ค.ศ. 2005 พบทั้งลิงหางยาว ลิงวอก และลิงลูกผสมระหว่างลิงหางยาวและลิงวอกในพื้นที่ จึงได้ทำการศึกษาประชากร ลักษณะทางสัณฐาน และลักษณะทางพันธุกรรมของลิง พบว่าลิงแบ่งออกเป็น 3 ฝูง มีพื้นที่การแพร่กระจายซ้อนทับกัน โดยฝูงที่มุ่งเน้นศึกษา คือ ฝูงกรงนก มีประชากรทั้งหมด 229 ตัว จากการจำแนกลักษณะทางสัณฐานของลิงโตเต็มวัย จำนวน 90 ตัว (เพศผู้ 9 ตัว และเพศเมีย 81 ตัว) พบลิงหางยาว ลิงวอก และลิงลูกผสม จำนวน 24, 25 และ 41 ตัว ตามลำดับ จากการศึกษาประชากรลิงและลักษณะทางสัณฐานวิทยา ทำให้พบว่าลิงลูกผสมระหว่างลิงหางยาวและลิงวอกที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีอยู่ในสัดส่วนที่มากกว่า 60% (ในลิงโตเต็มวัย) และมีความหลากหลายของลักษณะทางสัณฐาน ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างลิงสองชนิดเป็นระยะเวลานาน เมื่อตรวจวิเคราะห์หมู่เลือดระบบ ABO ในลิงทั้งหมด 40 ตัว พบว่าลิงหางยาวจำนวน 18 ตัว มีหมู่เลือด AB>O>A>B เท่ากับ 38.9, 27.8, 22.2 และ 11.1% ตามลำดับ ในลิงวอกจำนวน 5 ตัว พบหมู่เลือด A>AB=O เท่ากับ 60.0, 20.0 และ 20.0% ตามลำดับ ในขณะที่ลิงลูกผสมจำนวน 17 ตัว พบความถี่ของหมู่เลือด AB>O>A>B เท่ากับ 41.2, 29.4, 23.5 และ 5.9% ตามลำดับ เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของลิงวอก ลิงหางยาว และลิงลูกผสม จากไมโตรคอนเดรียลดีเอนเอ บริเวณ control region ที่ตัดด้วยเอนไซม์ตัดจำเพาะ Kpn I พบดีเอนเอ 2 แบบ (haplotype) คือ haplotype A และ B โดยในลิงวอกพบทั้ง 2 haplotype ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน ในขณะที่ลิงหางยาวและลิงลูกผสม พบ haplotype A ในอัตราส่วนที่สูงกว่า haplotype B จากผลการศึกษาในครั้งนี้กล่าวได้ว่าลิงหางยาวและลิงวอก ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สามารถผสมพันธุ์กันให้ลิงลูกผสมที่มีลักษณะปนกันระหว่างลิงทั้งสองชนิด ทั้งในแง่ของลักษณะทางสัณฐาน และลักษณะทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดลูกผสมระหว่างลิง 2 ชนิดนี้ และความโน้มเอียงของลักษณะต่าง ๆ ที่จะปรากฏในลูกลิงรุ่นหลัง ๆ จึงควรที่จะทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในแง่ของพฤติกรรมการผสมพันธุ์ และความแตกต่างแปรผันของยีนตัวอื่น ต่อไป